ซอฟท์โลน สายการบิน

Written by 1:41 pm News

นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอภาคธุรกิจการบิน 3 ข้อสำคัญ

นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอภาคธุรกิจการบิน พร้อมขอความร่วมมือภาคธุรกิจการบินให้คงสภาพการดำเนินงาน ไม่ลดการจ้างพนักงาน ย้ำรัฐบาลจะหามาตรการเสริมช่วยโดยเร็ว

นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอภาคธุรกิจการบิน พร้อมขอความร่วมมือภาคธุรกิจการบินให้คงสภาพการดำเนินงาน ไม่ลดการจ้างพนักงาน ย้ำรัฐบาลจะหามาตรการเสริมช่วยโดยเร็ว

วันนี้ (28 ส.ค.63) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทยเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากคณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทย ที่นำโดยนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และคณะรวม 14 คน โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงสาระสำคัญของการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจสำคัญที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เหมือนกันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะพิจารณาข้อเสนอจากภาคธุรกิจการบินและหาวิธีการช่วยเหลือ ทั้งนี้ รัฐบาลโดย ศบค. กำลังหามาตรการผ่อนปรนในหลายเรื่อง ทั้งการหาแนวทางปลดล็อคเรื่องการบิน รวมทั้งกำลังเร่งผ่อนคลายเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศโดยต้องพิจารณาทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคธุรกิจการบินร่วมมือกันให้มากขึ้น ลดการแข่งขันด้านราคาโดยให้แข่งขันกันด้านบริการ ให้จัดระเบียบการดำเนินงานให้ดี ให้คงสภาพการดำเนินงานโดยไม่ให้มีหนี้สินเพิ่ม และไม่ลดการจ้างพนักงาน โดยรัฐบาลจะหามาตรการเสริมต่าง ๆ ช่วยโดยเร็วต่อไป

สำหรับคณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทยที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นหนังสือฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ โดยได้มีข้อเสนอรวม 3 ประเด็นคือ

1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการสายการบิน โดยขอเสนอให้พิจารณามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท แก่ผู้ประกอบการสายการบินให้เร็วที่สุด
2. ขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น

3. การยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน เช่น การขึ้นลงของอากาศยาน (Landing fee) ที่เก็บอากาศยาน (Parking fee)

โดยปลัดกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft loan เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีผลกระทบต่อสภาพคล่อง ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคมนี้  ส่วนการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินนั้น สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ขยายออกไปถึงเดือนมีนาคม 2565 ขณะที่เรื่องการขอให้คงภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินนั้น จะยังคงคงไว้ตามที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

Tags: Last modified: August 28, 2020
Close