เกิดอะไรขึ้นกับ Malaysia Airlines?

Written by 6:04 pm Aviation

เกิดอะไรขึ้นกับ Malaysia Airlines?

อีกหนึ่งสายการบินของเพื่อนบ้านที่ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูไปจนถึงการปิดกิจการ เราได้รวบรวมประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมถึงเรื่องราวต่างๆของ Malaysia Airlines ไว้แล้ว

อีกหนึ่งสายการบินของเพื่อนบ้านที่ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูไปจนถึงการปิดกิจการ ถ้าจะมองภาพวิกฤตของสายการบินครั้งนี้ให้ชัดเจนต้องมองจากปี 2014 เป็นต้นมา เราได้รวบรวมประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมถึงเรื่องราวต่างๆของ Malaysia Airlines ไว้ดังนี้

– Malaysia Airlines เป็นสายการบินเก่าแก่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1947 หรือ 73 ปีมาแล้วภายใต้ชื่อ Malayan Airways ณ ขณะนั้น ก่อนที่จะแยกออกเป็น Malaysia Airlines และ Singapore Airlines ในปี 1972

– ปัจจุบันเจ้าของ Malaysia Airlines คือ Khazanah Nasional ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับลงทุนโดยรัฐบาลมาเลเซีย Khazanah ในภาษามาเลย์หมายถึง “สมบัติ” ส่วน Nasional คือ “ชาติ” รวมกันก็คือ สมบัติของชาตินั่นเอง เปรียบเทียบได้กับกองทุน Temasek ของสิงคโปร์นั่นเอง

เกิดอะไรขึ้นกับ Malaysia Airlines

โลโก้ของ Khazanah Nasional ผู้เป็นเจ้าของสายการบิน Malaysia Airlines

– ปัจจุบัน Malaysia Airlines ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน กล่าวคือ ไม่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียตั้งแต่สิ้นปี 2014 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมาเลเซียซื้อคืนหลักทรัพย์และถอดออกจากตลาด เป็นหนึ่งในแผนกู้วิกฤตครั้งใหญ่ในขณะนั้น หลังจากออกจากตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเปลี่ยนชื่อจาก Malaysia Airline System (MAS) เป็น Malaysia Airline Berhad (MAB)

– วิกฤตครั้งใหญ่ของ Malaysia Airlines เกิดติดกันในปี 2014 นั่นคือการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเที่ยวบิน MH370 และการถูกยิงตกเหนือน่านฟ้ายูเครนของเที่ยวบิน MH17 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์และผลประกอบการของสายการบิน

– แผนฟื้นฟูในช่วงตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมาเรียกว่า MAS Recovery Plan โดยมีแผนที่จะปลดพนักงานกว่า 6,000 ตำแหน่ง เน้นการบินเส้นทางภูมิภาคมากกว่าเส้นทางไกลที่ไม่ทำกำไร โดยแผนนั้นคาดว่าสายการบินจะกลับมาทำกำไรได้ในปี 2018

เกิดอะไรขึ้นกับ Malaysia Airlines

เส้นทางที่มีการยกเลิกในช่วงปี 2015 ได้แก่ แฟรงก์เฟิร์ต โคชิ คุนหมิง และกระบี่

– ในช่วงปี 2015-2018 มี CEO ชาวต่างชาติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สายการบิน ได้แก่ Christoph Mueller ที่เคยกู้วิกฤตสายการบิน Aer Lingus ของประเทศไอร์แลนด์ แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึงปี Peter Bellew ซึ่งขณะนั้นอยู่ในตำแหน่ง Chief Operation Officer จึงขึ้นมารับตำแหน่งแทน โดยในปัจจุบัน CEO ของ Malaysia Airlines คือ Izham Ismail ซึ่งเป็นอดีตกัปตันชาวมาเลเซีย

– ตั้งแต่ปี 2015-2018 Malaysia Airlines มีผลดำเนินงานติดลบมาโดยตลอด ในปี 2015 ขาดทุนถึง 1,000 ล้านริงกิต หรือประมาณ 7,500 ล้านบาท ส่วนปี 2018 ขาดทุน 800 ล้านริงกิต หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท (ข้อมูลจาก The Edge Financial)

– ช่วงปลายปี 2019 ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง Khazanah Nasional เริ่มมองหาผู้ที่จะเข้ามาลงทุนใน Malaysia Airlines เพิ่มเติม โดยมีทั้ง Air France/KLM, Japan Airlines ที่สนใจ รวมถึงความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการกับกลุ่ม AirAsia ดังข่าวที่เคยปรากฎ แต่ทุกข้อเสนอเหมือนจะไม่มีอะไรคืบหน้าจนเกิดวิกฤต COVID-19

– Malaysia Airlines ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก COVID-19 เช่นกัน แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังมีความต้องการขอซื้อกิจการโดยกองทุน Golden Skies Ventures กับมูลค่าที่เสนอเกือบ 80,000 ล้านบาท แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง Khazanah Nasional ไม่ได้พิจารณาขายหุ้นแต่อย่างใด

– การบริหารจัดการฝูงบินเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ โดยเครื่องบินแบบ Airbus A380 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สายการบินประสบปัญหา โดย Malaysia Airlines มี A380 ประจำการอยู่ทั้งหมด 6 ลำ โดยในแผน MAS Recovery Plan เมื่อปี 2015 นั้นระบุว่าจะขายเครื่องบินแบบนี้ทั้งหมด แต่ไม่สามารถขายได้จึงใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าใดนัก เพราะเครือข่ายการบินระยะไกลลดลงจากตอนตัดสินใจซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ โดยฝูงบินทั้งหมด ณ ปัจจุบันมีเครื่องบินพิสัยใกล้อย่าง Boeing 737-800 มากกว่าครึ่งหนึ่ง (47 ลำ) จากเครื่องบินทั้งหมด 80 ลำ

เกิดอะไรขึ้นกับ Malaysia Airlines?

เครื่องบินแบบ Boeing 737-800 ถือเป็นฝูงบินหลักของสายการบิน สำหรับเส้นทางภายในประเทศและในภูมิภาค

– หลังจากประสบกับผลประกอบการติดลบอย่างหนักช่วง COVID-19 ทำให้ Malaysia Airlines ตัดสินใจจะปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ รวมถึงจัดทำแผนฟื้นฟูซึ่งคาดว่าจะดำเนินการผ่านศาลล้มละลายที่สหราชอาณาจักร แต่เร็วๆนี้มีข่าวออกมาจากสำนักข่าว Reuter ว่ามีกลุ่มเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเครื่องบินและเครื่องยนต์รายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งมากกว่า 70% ของฝูงบินทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าแผนดังกล่าวมีข้อบกพร่องบางประการอันร้ายแรง

– ทางด้าน Izham Ismail CEO คนปัจจุบันของ Malaysia Airlines ออกมาแสดงความเห็นถึงประเด็นนี้กับนิตยสาร The Edge ว่า ถ้าแผนนี้ไม่ผ่าน ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องปิดกิจการ Malaysia Airlines ไป และยังกล่าวว่ามีเจ้าหนี้บางส่วนที่เห็นด้วยกับแผนและอีกส่วนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยแผนนี้จะปรับโครงสร้างงบดุลของสายการบินจนถึงปี 2023 รวมถึงยังมีแผนการอัดฉีดเงินเพิ่มเติมจาก Khazanah Nasional สำหรับการดำเนินกิจการระยะสั้น ที่ยังไม่มีรายได้จากบัตรโดยสาร

Izham Ismail CEO ของ Malaysia Airlines คนปัจจุบัน ภาพจาก TheStar

– เจ้าหนี้ที่ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูจะมีเวลาตัดสินใจถึงวันที่ 17 ตุลาคมนี้ โดย Izham Ismail ได้กล่าวถึงแผน B ถ้าแผนนี้ไม่ผ่านคือต้องปิดกิจการและนำ Air Operation Certificate (AOC) หรือใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศไปให้สายการบินอื่นในเครืออย่าง Firefly และ MASwings เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิการบินต่างๆที่ Malaysia Airlines เคยทำการบินได้

ณ วันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าอนาคตของ Malaysia Airlines จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่นอนที่สุดคือยังไงก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ติดตาม Wingtips ไว้แล้วจะไม่พลาดข่าวสารด้านการบินที่น่าสนใจอย่างแน่นอน

 

Tags: Last modified: October 13, 2020
Close