อีกหนึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับสายการบิน ที่ส่งผลมาจากความขัดแย้งและสถานการณ์บริเวณช่องแคบไต้หวัน ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงหลังปี 1990 เป็นต้นมาจนถึงช่วงต้นปี 2000 หรือหลังสงครามเย็นได้ยุติลงไปไม่นานนัก เกาะใกล้ๆบ้านเราที่ชื่อว่าเกาะฟอร์โมซ่าหรือสาธารณรัฐจีน ถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการคานอำนาจกันระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และประเทศตะวันตก ณ ขณะนั้น
ในตอนนั้นรัฐบาลของสาธารณรัฐจีน (หรือที่เรารู้จักกันว่าไต้หวัน) หลังจากไม่สามารถกลับไปชิงอำนาจจากที่เดิมที่ได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาแล้ว ก็ได้พยายามแยกตัวจากจีนอย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่าทำได้ยากมาก รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่ก็แบ่งรับแบ่งสู้ โดยปัญหาหลักคือประเทศตะวันตกที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ก็มักจะใช้นโยบาย “จีนเดียว”
ในด้านของการบินนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีนโยบายอย่างชัดเจนว่า ถ้าสายการบินชาติไหนบินมาลงประเทศจีนแล้ว จะต้องไม่ทำการบินไปยังไต้หวัน มิเช่นนั้นอาจจะดำเนินมาตรการต่างๆเช่น การยกเลิกสิทธิการบินเดิม เป็นต้น โดยมาตรการนี้เน้นไปที่สายการบินชาติตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา
คราวนี้ก็ยุ่งหละสิ….ไต้หวันที่กำลังเป็นหนึ่งในเสือ 5 ตัวของเอเชีย มีขนาดเศรษฐกิจที่เริ่มใหญ่ขึ้นมาก รวมถึงเริ่มเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆอีกด้วย จะให้ไม่บินไปลงก็จะเสียโอกาสสร้างรายได้มหาศาล แต่ถ้าไปลงแล้วโดนแบนจนไม่สามารถบินไปลงยังปักกิ่งเซี่ยงไฮ้ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เข้าไปใหญ่
สายการบินต่างๆก็เลยดำริไอเดียเลี่ยงบาลีขึ้นมา โดยทำการแปะคำว่า “ASIA” ต่อท้ายเข้าไปเพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นสายการบินใหม่ รวมถึงจดทะเบียนบริษัทใหม่ มีการซื้อขายเครื่องบินหรือเช่าอย่างถูกต้อง โดยเป็นการซื้อหรือเช่าจากสายการบินเดิม สำหรับลวดลายเครื่องบิน บางสายการบินก็ลงทุนทำให้แตกต่าง ทำหางลายภาษาจีนบ้าง ส่วนบางสายการบินก็เลือกที่จะเพิ่มคำว่า ASIA เข้าไปเพียงแค่นั้น
สายการบินที่มีการดำเนินการแบบนี้มีดังนี้
– KLM เป็น KLM ASIA
– Japan Airlines เป็น Japan Asia Airways
– Air France เป็น Air France Asie
– QANTAS เป็น Australia Asia Airlines
– Swissair เป็น Swissair Asia
– British Airways เป็น British Asia Airways
นอกจากนี้ยังมีสายการบิน Lufthansa เป็น Lufthansa Asien (ไม่มีภาพปรากฎ คาดว่าจะให้สายการบินในเครือทำการบินแทน)
เพียงเท่านี้ก็สามารถทำการบินไปยังไต้หวันได้แล้ว
ปัจจุบันประเทศไทยก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน เรายังถือนโยบายจีนเดียวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โดยประเทศไทยมีสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย มีภารกิจโดยพฤตินัยเทียบเท่ากับสถานทูตของประเทศไทยในไต้หวัน ซึ่งแต่เดิมเป็นสำนักงานประสานงานที่อยู่ภายใต้บริษัทการบินไทย และได้แยกตัวออกมาจัดตั้งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการต่างประเทศขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยมีสถานะเป็นสถานกงสุลใหญ่ชั้นหนึ่ง