ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทุกคนคงได้เห็นข่าวการขยายฐานปฏิบัติการบินของสายการบินไทยแอร์เอเชียไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ การขยายดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ การแข่งขันจะเป็นอย่างไร ใครจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง มุมมองต่างๆ ที่ควรรู้กับบทวิเคราะห์ของผู้เขียน โดยขอแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้
1. ส่วนแบ่งตลาดผู้โดยสารภายในประเทศ
จากการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสายการบินต้นทุนต่ำเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยเดินทางได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น สายการบินไทยแอร์เอเชียเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดเส้นทางบินภายในประเทศด้วยจำนวนจุดหมายปลายทางและความถี่ของเที่ยวบิน ที่ครอบคลุมแทบทุกจังหวัดของประเทศไทยและครอบคลุมทุกเวลาตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ
จากกราฟด้านบนทั้ง 2 กราฟ จะเห็นว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ของเส้นทางบินภายในประเทศปี 2562 กว่า 73% เลือกใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ และกว่า 32 % ของผู้โดยสารภายในประเทศเลือกใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย จากข้อมูลดังกล่าวแสดงถึงความเป็นผู้นำของเส้นทางบินภายในประเทศและความสามารถในการทำตลาดได้อย่างครอบคลุม
2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เริ่มคลี่คลายขึ้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัดภายในประเทศได้โดยอิสระมากขึ้น สายการบินที่ให้บริการมีการเพิ่มจุดหมายปลายทางและจำนวนเที่ยวบินมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของผู้โดยสาร
จากกราฟ สังเกตได้ว่าจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศของเดือนเมษายน มีจำนวนต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา และค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนตามลำดับ และจากแนวโน้มของจำนวนผู้โดยสารรายสัปดาห์พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงสัญญาณที่ดีของการเดินทางทางอากาศภายในประเทศของคนไทยด้วยกัน อย่างไรก็ตามผู้โดยสารระหว่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้โดยสารที่เดินทางมากับเที่ยวบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา (Repatriation flights) และต้องมีการประเมินสถานการณ์เฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่เริ่มกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง จึงสามารถคาดเดาได้ว่าการทำการบินระหว่างประเทศแบบปกตินั้นคงมีแนวโน้มเลื่อนออกไปเรื่อยๆ โดยปีนี้อาจต้องพึ่งพาการเดินทางของผู้โดยสารภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นสายการบินไทยแอร์เอเชียจึงสามารถปรับแผนกลยุทธ์และทรัพยากรที่มีอยู่ มุ่งเน้นตลาดภายในประเทศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
3. แบรนด์แอร์เอเชีย หนึ่งในแบรนด์สายการบินต้นทุนต่ำที่ประสบความสำเร็จ
ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่สายการบินไทยแอร์เอเชียได้เริ่มให้บริการพี่น้องชาวไทย ด้วยสโลแกนที่คุ้นหูกันว่า “ใคร ใคร…ก็บินได้” ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงการเดินทางทางอากาศได้ง่ายและประหยัดขึ้น จนมีกลุ่มสายการบินอื่นทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาเปิดบริการแข่งขันมากขึ้น จนในปัจจุบันมีสายการบินให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศแบบประจำถึง 6 สายการบิน และ คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสายการบินไทยแอร์เอเชียเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากตลอด 1 ปีที่ผ่านมาทั้งเส้นทางบินใหม่ๆ (ในปัจจุบันเส้นทางบินหัวหิน – เชียงใหม่และ หัวหิน – อุดรธานี ยืนยันกำหนดการบินแล้ว) การทำโปรโมชัน ชานมไข่มุก สปอตโฆษณาต่างๆ ตั๋วบุฟเฟ่ ความกล้าได้กล้าเสียที่จะทำอะไรใหม่ๆ รวมถึงประเด็นในปัจจุบันที่จะขยายฐานปฏิบัติการบินของสายการบินไทยแอร์เอเชียไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยสายการบินไทยแอร์เอเชียที่มีเครื่องบินกว่า 60 ลำ จึงมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบินเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดดีกว่าจอดไว้เสียเปล่า การขยายมายังสนามบินสุวรรณภูมิโดยยังคงความสามารถในการแข่งขันไว้ที่สนามบินดอนเมือง ย่อมทำให้เกิดกระแสรายได้เพิ่มขึ้นจากตลาดภายในประเทศที่มีความหลากหลายและใช้ปัจจัยด้านราคาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกใช้บริการ อย่างไรก็ตามต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ตามมาย่อมเพิ่มขึ้นตามด้วยเช่นกัน ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในครั้งนี้ว่าคุ้มที่จะลงทุนหรือคุ้มที่จะกล้าได้กล้าเสียขนาดไหน
ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มบริษัทแอร์เอเชีย (AirAsia Group) ก็ส่งผลบวกต่อภาพลักษณ์ของไทยแอร์เอเชียด้วยเช่นกัน เพราะแบรนด์ “AirAsia” ถือเป็นแบรนด์ระดับโลก ดูน่าเชื่อถือ โดยในปัจจุบัน กลุ่มบริษัทแอร์เอเชียมีสายการบินกระจายอยู่ถึง 6 ประเทศด้วยกัน
4. สนามบินและสายการบิน…น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าเมื่อสายการบินได้รับผลกระทบไม่สามารถดำเนินการได้จนเกิดวิกฤต ย่อมส่งผลกระทบต่อสนามบินในช่วงเวลาต่อมา ทำให้ขาดรายได้หลักจากรายได้ที่เกี่ยวกับด้านการบิน (Aeronautical revenue) เช่น ค่าบริการการขึ้นลงของอากาศยาน ค่าบริการสะพานเทียบอากาศยาน ค่าบริการผู้โดยสาร ค่าบริการด้านการรักษาความปลอดภัย ค่าบริการสินค้า ค่าบริการอุปกรณ์ภาคพื้น เป็นต้น ส่วนรายได้ของท่าอากาศยานที่ไม่เกี่ยวข้องด้านการบิน (Non aeronautical revenue) เช่น ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ ค่าจอดรถ ค่าโฆษณา และค่าเช่าอื่นๆ รายได้ของสนามบินในส่วนนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันเนื่องจากมีผู้โดยสารใช้บริการลดลง ผู้เช่าพื้นที่ต่างพากันพักและหยุดกิจการ
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้ดำเนินการท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จึงต้องมีการพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง การพิจารณาและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ทั้ง การจัดการเคาเตอร์เช็คอิน (อาจจะขอคืนชั่วคราวจากบางสายการบินที่ไม่ได้ให้บริการในตอนนี้) การจัดการหลุมจอดและสะพานเทียบอากาศยานตามความเหมาะสม การจัดการพื้นที่สำหรับสายงานปฏิบัติการและสนับสนุน การจัดการพื้นที่สำหรับออฟฟิศให้กับสายการบินไทยแอร์เอเชียสามารถปฏิบัติการเพิ่มเติมได้อย่างเหมาะสม ถ้าเป็นเช่นนี้ ทอท. จะมีรายได้เข้ามามากขึ้น ย่อมดีกว่าไม่มีรายได้เลย ทั้งนี้ผู้เขียนคิดว่า ทอท. น่าจะตกลงให้สายการบินไทยแอร์เอเชียเพิ่มฐานปฏิบัติการบินที่สนามบินสุวรรรณภูมิอีกแห่งหนึ่ง
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปคือ การจัดการหลุมจอดทั้งในตอนกลางวันและตอนกลางคืน ที่ในปัจจุบันมีทั้งเครื่องบินของสายการบินไทย ไทยสมายล์ บางกอกแอเวย์ส และไทยเวียตเจ็ท ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นเดิมใช้พื้นที่จอดเครื่องบินที่ค่อนข้างเต็มความจุอยู่แล้ว การที่สายการบินไทยแอร์เอเชียจะเปิดให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิไปยังจุดหมายปลายทางอีก 4-5 จุดบิน อย่างน้อยผู้เขียนคิดว่าอาจจะมีเครื่องบินให้บริการหมุนเวียนเพิ่มอีก 7-8 ลำ ดังนั้นจำนวนเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นมาย่อมเป็นข้อจำกัดของสายการบินและความท้าทายของ ทอท. ในการจัดการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
5. Slot…ของล้ำค่าของสายการบิน
สิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งของสายการบินคือ เวลาการเข้า – ออกสนามบินของอากาศยานหรือเรียกชื่อเล่นว่า Slot นั่นเอง สายการบินที่ครอบครอง Slot เวลาที่ตรงกับความต้องการของผู้โดยสารทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ ย่อมมีความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์มากกว่าคู่แข่ง สามารถกำหนดตารางเวลาบินในแต่ละเส้นทางบินให้มีความสอดล้องกันได้อย่างเหมาะสม
เนื่องจากสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิถูกจัดระดับความหนาแน่นของสนามบินอยู่ในระดับสาม (level 3) คือ สนามบินที่มีความต้องการทำการบินเกินกว่าโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกของสนามบินจะรองรับได้ (Demand > Capacity) (ข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้ ที่นี่) หน่วยประสานจัดสรรเวลาการบิน หรือเรียกว่า Slot Coordinator ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จึงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดสรรเวลาการบินให้แก่สนามบินระดับสาม ตามระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเวลาการเข้าออกสนามบินของอากาศยาน พ.ศ. 2562
จากประกาศขีดความสามารถท่าอากาศยาน (NAC Chart) ในกำหนดการบินประจำฤดูร้อน 2563 สามารถแสดงช่วงเวลาของความหนาแน่นของเที่ยว ณ สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิได้ดังนี้
จากภาพข้างต้นจะเห็นว่าในช่วงเวลา 07:00 – 20:00 ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย ความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของทั้งสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถเต็มและใกล้เต็มเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตามในช่วงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้สายการบินต่างๆยกเลิกเที่ยวบินและไม่สามารถทำการบินได้ตาม Slot ของตนเอง จึงทำให้สายการบินต้องส่งคืน Slot ตามระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเวลาการเข้าออกสนามบินของอากาศยาน พ.ศ. 2562 ส่วนที่ 11 การถือครองและการส่งคืนเวลาการบิน โดย Slot Coordinator จะไม่คิดเป็นประวัติการบิน (Historic Precedence) และไม่กระทบสิทธิในการได้รับประวัติการบิน เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย ตามส่วนที่ 13
ดังนั้นสายการบินไทยแอร์เอเชียสามารถใช้ Slot ที่ว่างอยู่ได้ชั่วคราวจนถึงสิ้นสุด ตารางการบินฤดูร้อน 2020 (Summer 2020) ถ้าหากสายการบินไทยแอร์เอเชียต้องการที่จะดำเนินการที่สนามบินสุวรรณภูมิต่อในตารางการบินฤดูหนาว 2020 (Winter 2020) จะต้องรับการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรเวลาการบินต่อเนื่อง โดยอยู่ในการจัดลำดับความสำคัญที่ 3 (เวลาการบินสำหรับผู้ทำการบินรายใหม่ของสนามบินนั้น) ส่วนการจัดลำดับความสำคัญที่ 1 และ 2 คือ เวลาการบินที่มีประวัติการบิน และการปรับเปลี่ยนเวลาของเที่ยวบินที่มีประวัติการบิน ตามลำดับ
6. ถอดบทเรียนการใช้ฐานปฏิบัติการบิน 2 แห่ง
ย้อนเวลากลับ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 สายการบินไทยสมายล์ที่มีฐานปฏิบัติการบินหลักอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้ทำกลยุทธ์บุกสายการบินต้นทุนต่ำที่สนามบินดอนเมืองโดยการเพิ่มบริการที่สนามบินดอนเมืองอีกหนึ่งแห่ง เพื่อเพิ่มความสะดวกและเป็นทางเลือกให้กับผู้โดยสาร โดยในตอนนั้นมีการให้บริการ 3 เส้นทางบิน คือ ดอนเมือง – เชียงใหม่ , ดอนเมือง – ขอนแก่น และ ดอนเมือง – ภูเก็ต หลังจากให้บริการเป็นเวลาประมาณ 2 ปี 5 เดือน สายการบินไทยสมายล์ได้ตัดสินใจย้ายฐานปฏิบัติการบินที่สนามบินดอนเมืองกลับไปที่สนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 เป็นต้นไป เป็นการปิดฉากการให้บริการสายการบินสีส้ม ณ สนามบินดอนเมือง
เหตุการณ์นี้สามารถบอกอะไรเราได้บ้าง…สิ่งหนึ่งที่สามารถบอกได้คือ สายการบินไทยสมายล์มาเปิดให้บริการที่สนามบินดอนเมืองนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากในตอนนั้นเองไทยมายล์ไม่ได้มี positioning ที่ชัดเจนว่าเป็นสายการบินประเภทไหน บ้างว่าก็เป็น low cost บ้างว่าก็เป็น Light Premium บ้างว่าก็เป็น Full service เหมือนบริษัทแม่อย่างการบินไทย สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้โดยสารอาจเกิดความสับสนทั้ง Positioning ของสายการบิน จุดหมายปลายทางที่จะบิน รวมถึงสายการบินต้องเผชิญกับต้นทุนที่ตามมาอย่างมากของการเปิดบริการทั้ง 2 สนามบิน สุดท้ายแล้วปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดทำให้สายการบินไทยสมายล์ต้องกลับไปสู่สนามบินสุวรรณภูมิและทำการบินในเครือข่ายร่วมกับการบินไทยอีกครั้ง
และคอยดูว่าถ้าสายการบินไทยแอร์เอเชียมาให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิจริงๆ จะมีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกหรือไม่
7. เส้นทางบินภายในประเทศ…การแข่งขันกันอย่างดุเดือด
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทุกคนอาจจะได้เห็นโพสในสื่อโซเชียลมีเดียของการออกมาบลัฟกันอย่างทีเล่นทีจริงของสายการบินไทยสมายล์และสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ ส่งสัญญาณถึงการรับน้องของสายการบินไทยแอร์เอเชียที่มีข่าวจะเข้ามาทำการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนสายการบินบางกอกแอร์เวย์สก็ดูมีความเคลื่อนไหวน้อยที่สุดในกลุ่มสายการบินที่ให้บริการในช่วงนี้
แน่นอนว่าการมาของสายการบินไทยแอร์เอเชียนั้นคือการเข้ามาหาโอกาสใหม่ๆ และเป็นการแข่งขันโดยตรงกับโลคอสหนึ่งเดียวของสุวรรณภูมิคือสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ สิ่งหนึ่งที่ต้องเจอ แน่ๆคือ การทำสงครามราคากันเพื่อแย่งชิงผู้โดยสาร ถึงแม้ในว่าการกลับมาเปิดให้บริการในช่วงหลังรู้สึกว่าราคาค่าโดยสารเฉลี่ย (Average Fare) จะสูงขึ้นบ้างก็ตาม และยิ่งในปัจจุบันสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ได้เพิ่มเส้นทางบินครอบคลุมในจุดหมายปลายทางหลักต่างๆ ทั้ง อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธนี หาดใหญ่ นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ก็แสดงถึงความพร้อมที่จะลุยตลาดภายในประเทศอย่างเต็มตัว
หันไปมองคู่แข่งทางอ้อมอย่างสายการบินไทยสมายล์และสายการบินบางกอกแอร์เวย์สกันบ้าง สายสีฟ้ามีความชัดเจนว่าคงไม่ทุ่มสุดตัวในตลาดภายในประเทศ เน้นสมุยเป็นจุดบินสำคัญและเส้นทางบินภายในประเทศจำนวนไม่มาก ส่วนสายสีส้มที่ให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศที่หลากหลายกว่าก็เริ่มโดนผลกระทบทางอ้อมจากการเพิ่มเส้นทางบินของสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ ลดการผูกขาดรูทอีสานและบางรูทของภาคใต้ นอกจากนั้นในปัจจุบันไม่สามารถขายแบบ Route Network เชื่อมโยงและส่งต่อผู้โดยสารแบบ Codeshare หรือ Interline จากการบินไทยและสายการบินต่างชาติอื่นๆ ได้ ต้องเน้นการขายแบบจุดต่อจุดหรือ point-to-point อย่างเดียวเท่านั้น ด้วยบริการที่มีมากกว่า ภาพลักษณ์แบบ Full service การเก็บคะแนน ROP และ slot เวลาดีๆ ของการบินไทยเดิม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันได้หรือไม่ หรือราคาจะเป็นคำตอบสุดท้ายของการแข่งขันในสมรภูมินี้
ผู้เขียนในฐานะผู้โดยสารคนนึง…อยากเห็นผู้ประกอบการสายการบินสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างยั่งยืน สุดท้ายไม่ว่าสถานการณ์การแข่งขันจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหน ผลประโยชน์ก็มักจะตกอยู่กับผู้บริโภคเสมอทั้งด้านราคาและทางเลือกในการให้บริการต่างๆ
สรุป
จากมุมมองต่างๆ ที่ได้เล่าสู่กันฟัง ผู้เขียนมีความคิดว่าการขยายฐานปฏิบัติการบินของสายการบินไทยแอร์เอเชียไปยังสนามบินสุวรรณภูมินั้น สามารถเกิดขึ้นได้และดำเนินธุรกิจได้อย่างดีในช่วงเริ่มต้น อาจจะเจอการแข่งขันและต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น โดยหลังจากนั้นต้องคอยติดตามสถานการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 4 อย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถดำเนินไปได้ขนาดไหน ต้องเอาใจช่วยกัน ในวิกฤตย่อมมีโอกาส และโอกาสย่อมมาพร้อมกับความท้าทายอยู่เสมอ การให้บริการอย่างเป็นธรรม ปลอดภัยและใส่ใจผู้โดยสารคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของการให้บริการ
ปล. ผู้เขียน วิเคราะห์และให้ความเห็นจากข้อมูลทั่วไป ความรู้ รวมถึงประสบการณ์จากการทำงาน ถ้ามีการผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้
_________________________________________
อย่าลืมติดตาม Wingtips เพื่อที่จะไม่พลาดข่าวสารและเรื่องเล่าการบินอื่นๆตามช่องทางดังนี้
Homepage : Wingtips
Facebook : WingtipsTH
Instagram : wingtips_th
สำหรับติดต่อโฆษณาและอื่นๆสามารถส่งรายละเอียดมาได้ที่ [email protected]
Last modified: July 20, 2020