Written by 11:41 am Aviation

อุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิดกับเที่ยวบิน MH17

เที่ยวบิน MH17 ของสายการบิน Malaysia Airlines ทำการบินด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 777-200ER ทะเบียน 9M-MRD ในเส้นทางจากอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ สู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

17 กรกฎาคม 2014 เกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิดกับเที่ยวบิน MH17 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คน

เที่ยวบิน MH17 ของสายการบิน Malaysia Airlines ทำการบินด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 777-200ER ทะเบียน 9M-MRD ในเส้นทางจากอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ สู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

เที่ยวบิน MH17 เดินทางออกจากท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมก่อนเกิดเหตุ มีผู้ถ่ายภาพไว้ได้ ภาพประกอบจาก airhistory.net

เที่ยวบินนี้บินขึ้นจากท่าอากาศยาน Schiphol ในเวลาประมาณ 12.30 โดยมีกำหนดการร่อนลงที่กัวลาลัมเปอร์ในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น หลังจากเที่ยวบินนี้เดินทางตามเส้นทางปกติที่มีการวางแผนไว้มาได้ประมาณ 3 ชั่วโมง ขณะอยู่เหนือน่านฟ้าประเทศยูเครน โดยหน่วยงานควบคุมการจราจรทางอากาศที่กำลังรับผิดชอบเที่ยวบินนี้คือ Dnipro Control กำลังอยู่ในช่วงส่งต่อการดูแลให้กับ Rostov-on-Don (RND Control) เพื่อเข้าสู่น่านฟ้าประเทศรัสเซียต่อไป แต่ในช่วงนั้นเองที่เครื่องบินขาดการติดต่อและหายไปจากจอเรดาร์

เครื่องบินแบบ Boeing 777 ลำนี้ โดนยิงด้วย “Buk” ขีปนาวุธจากพื่นสู่อากาศ ทำให้บริเวณส่วนหัวและหางเครื่องบินขาดออกจากตัวเครื่อง และทั้ง 3 ชิ้นส่วนตกลงมาสู่พื่นดินบริเวณแคว้น Donetsk Oblast ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศยูเครน โดยชิ้นส่วนเครื่องบินกระจายเป็นวงกว้างกว่า 50 ตารางกิโลเมตร ซึ่งน่านฟ้าที่เครื่องบินถูกยิงตกลงมานั้นเป็นเขตความขัดแย้ง “Conflict Zone” ระหว่างกลุ่มกบฎและรัฐบาล

ภาพแสดงเส้นทางบินและจุดเกิดเหตุ ภาพจาก DW.com

ในขณะที่ MH17 ถูกยิงนั้น มีเที่ยวบินพาณิชย์อยู่ใกล้เคียงหลายเที่ยวบินด้วยกัน สำหรับเที่ยวบินที่ใกล้ที่สุดคือเที่ยวบิน SQ351 ของสายการบิน Singapore Airlines ทำการบินจากโคเปนเฮเกนสู่สิงคโปร์ที่อยู่ห่างจากเที่ยวบิน MH17 เพียงประมาณ 30 กิโลเมตรเท่านั้น

หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น รัฐบาลยูเครนได้ประกาศปิดน่านฟ้าบริเวณตะวันออกของประเทศทั้งหมดในทุกระดับความสูง และหลังจากนั้นสายการบินหลายสายได้ประกาศหลีกเลี่ยงการบินผ่านบริเวณนี้ไปเป็นระยะเวลานานก่อนที่สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ

ชิ้นส่วนของเครื่องบินที่ตกลงสู่พื้น ภาพประกอบจาก Reuters

ชิ้นส่วนของเครื่องบินที่ตกลงสู่พื้น ภาพประกอบจาก Reuters

สำหรับผลการสอบสวนเหตุการณ์นี่จากคณะทำงานสืบสวนร่วม (JIT : Joint Investigation Team) ที่ประกอบด้วยประเทศต่างๆทั้ง เนเธอร์แลนด์,เบลเยียม,ออสเตรเลีย,ยูเครนและมาเลเซีย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ขีปนาวุธที่ยิง MH17 นี้มาจากกองพลน้อยต่อต้านอากาศยานที่ 53 ที่มีฐานอยู่ในรัสเซีย ซึ่งรัสเซียได้โต้แย้งผลการสืบสวนนี้ว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

หนึ่งในขั้นตอนของการสืบสวนโดยการนำชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายมาประกอบให้เป็นตัวเครื่องบิน ภาพประกอบจาก REUTERS/Piroschka van de Wouw

ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์นี้ต่อเลข 17

– หมายเลขเที่ยวบิน MH17
– เหตุการณ์เกิดขึ้นวันที่ 17 กรกฎาคม
– Boeing 777-200ER ลำนี้ขึ้นบินเป็นครั้งแรกวันที่ 17 กรกฎาคม 1997
– เหตุการณ์เกิดหลังจากเครื่องบินลำนี้ขึ้นบินเป็นครั้งแรก 17 ปีพอดี

สถานการณ์ปัจจุบันในปี 2022

ออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ เตรียมดำเนินการทางกฎหมาย

8 ปีผ่านมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2022 รัฐบาลออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ เตรียมร่วมกันดำเนินการทางกฎหมายกับรัสเซียจากกรณีเที่ยวบิน MH17 ผ่านองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ โดย Scott Morrison นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า เหตุการณ์นี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัสเซีย ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ จะถือเป็นอีกขั้นของการต่อสู้เพื่อผู้ประสบเหตุทุกคน โดยเฉพาะชาวออสเตรเลียที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี่จำนวน 38 คน

ด้านรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า การดำเนินการนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รับทราบแล้ว และ Wopke Hoekstra รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ความตายของพลเรือน 298 คน ซึ่งเป็นชาวดัตช์ 196 คน ไม่สามารถคงอยู่แบบไร้ผล เหตุการณ์ปัจจุบันในยูเครนยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญที่สำคัญของการดำเนินการเช่นนี้

ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการทางกฎหมายนี้ จะอยู่ภายใต้อนุสัญญาชิคาโกของ ICAO ที่บัญญัติไว้เพื่อปกป้องเครื่องบินพลเรือนจากการถูกยิงด้วยอาวุธ มันถูกเพิ่มเข้ามาในปี 1984 หลังจากการยิงเครื่องบินโดยสารของเกาหลีใต้โดยเครื่องบินรบสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1983

สำหรับสิ่งที่เรียกร้องจากรัสเซียคือ การชดเชยสำหรับการเสียชีวิต และที่สำคัญคือการลดบทบาทของรัสเซียใน ICAO ลง โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียยังกล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า รัสเซียรุกรานยูเครนโดยปราศจากการยั่วยุและความยุติธรรม รวมถึงยังเป็นการการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง ทำให้ต้องลดบทบาทของรัสเซียในองค์การที่ดูแลความปลอดภัยด้านการบินระหว่างประเทศลงนั่นเอง

_____________________________________

เหตุการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นเคราะห์ซ้ำของสายการบิน Malaysia Airlines เลยทีเดียว เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน ในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้น พึ่งเกิดเหตุการณ์ช็อคโลกอย่าง MH370 ที่หายไป โดนทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดสำคัญที่ส่งผลกระทบและสร้างปัญหาให้กับสายการบินมาจนถึงปัจจุบัน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “เกิดอะไรขึ้นกับ Malaysia Airlines?”

Last modified: July 17, 2022
Close