อีกหนึ่งข่าวใหญ่ในอุตสาหกรรมการบิน กับการที่ AerCap ควบรวมกับ GECAS กลายเป็นบริษัทให้เช่าเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การจัดหาเครื่องบินเข้ามาประจำการในฝูงบินของสายการบินต่างๆนั้น สามารถจัดหาได้หลากหลายวิธี เปรียบได้กับการซื้อรถยนต์นั่นเอง มีทั้งการชำระเต็มจำนวนด้วยเงินสด ซึ่งพบเห็นได้น้อยมาก รวมถึงการเช่าซื้อ ซึ่งความเป็นเจ้าของตัวเครื่องบินจะเป็นของสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ อีกวิธีที่นิยมไม่แพ้กันก็คือการเช่ามาให้บริการ โดยบริษัทผู้ให้เช่าก็มีมากมายกระจายอยู่ทั่วโลก มีทั้งบริษัทขนาดเล็กที่มีเครื่องบินไม่กี่ลำไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเครื่องบินนับพันลำ
ตัวอย่างรายชื่อบริษัทต่างๆที่น่าจะพอคุ้นหูกันมีดังนี้
– AerCap
– GECAS (General Electric Capital Aviation Services)
– Avolon
– SMBC Aviation Capital
– BOC Aviation
ความน่าสนใจของดีลนี้คือเป็นการควบรวมกันของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดอย่าง AerCap และ GECAS โดยเป็นฝ่าย AerCap ที่เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 100% ของ GECAS ทำให้เป็นเจ้าของอย่างเบ็ดเสร็จ หลังจากควบรวมจะทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีฝูงบินมากกว่า 2,000 ลำ เครื่องยนต์มากกว่า 900 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์มากกว่า 300 ลำ และรวมลูกค้าทั้งหมดมากกว่า 300 รายทั่วโลก ครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 18%
มูลค่าของดีลครั้งประวัติศาสตร์นี้ที่ AerCap ชำระให้กับ General Electric ประกอบไปด้วย
– เงินสด 740,000 ล้านบาท
– ตราสารทุนออกใหม่ของ AerCap มูลค่า 3,400 ล้านบาท
– ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือเงินสด มูลค่า 30,000 ล้านบาท
รวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 773,400 ล้านบาท
หลังจากการควบรวม ฝูงบินของบริษัทใหม่นี้จะเป็นเครื่องบินลำตัวแคบในสัดส่วน 60% มีเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุด (อาทิเช่น Airbus A220,320neo,330neo,350 Boeing 737MAX,747-8,787) ถึง 56% และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 75% ในอีก 3 ปีต่อจากนี้ด้วยยอดคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ที่กำลังรอการส่งมอบจำนวน 493 ลำ โดยในจำนวนนี้สัดส่วนถึง 90% เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ
ก่อนหน้านี้ในปี 2003 ที่ผ่านมา AerCap ยังเคยควบรวมกิจการอีกหนึ่งบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบินขนาดใหญ่นั่นคือ International Lease Finance Corporation (ILFC)
การควบรวมครั้งนี้จะส่งผลต่อภาพรวมของตลาดอย่างไร
การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะมีเครื่องบินมากกว่า 2,000 ลำ รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท และครองส่วนแบ่งเกือบ 1 ใน 5 ของตลาดการให้เช่าเครื่องบินโดยรวม เรามองว่าจะส่งผลต่อภาพรวมของตลาดดังนี้
– อำนาจต่อรองของ AerCap ต่อผู้ผลิตเครื่องบินมากขึ้น ทั้งกับ Airbus และ Boeing เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดใหญ่มาก การเจรจาซื้อเครื่องบินแต่ละครั้งก็จะเจรจาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะมากกว่า 100 ลำ ทำให้มีอำนาจต่อรองที่สูงมากและมักจะได้ราคาต่ำกว่าการซื้อจำนวนน้อย
– อาจส่งผลต่อการออกแบบเครื่องบินรุ่นใหม่ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน เพราะมักจะออกแบบให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่สามารถซื้อได้ในจำนวนเยอะๆ เมื่อบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบินมีอำนาจต่อรองจากยอดการสั่งซื้อจำนวนมาก บริษัทผู้ให้เช่าก็สามารถเรียกร้องให้ออกแบบตามความต้องการได้ เช่น อายุการใช้งานของโครงสร้าง หรือโปรแกรมการซ่อมบำรุงต่างๆ เป็นต้น
– อำนาจต่อรองต่อลูกค้าหรือสายการบินเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการลดจำนวนคู่แข่งในตลาด และยังไม่มีบริษัทไหนที่จะมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกัน รวมถึงการรวมลูกค้าปัจจุบันของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกันจะทำให้ AerCap มีลูกค้าในมือจำนวนมา
– สัดส่วนกำไร (Margin) ของ AerCap คาดว่าจะสูงขึ้น จากต้นทุนการซื้อเครื่องบินที่ถูกกว่าตามที่กล่าวไว้ข้างต้น สามารถทำราคาค่าเช่าได้ต่ำกว่าคู่แข่ง จนไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างราคา
– ถ้าโครงสร้างราคาค่าเช่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ลดลง อาจจะมีสายการบินที่ปัจจุบันเลือกใช้วิธีกู้เงินกับสถาบันการเงินเปลี่ยนมาใช้วิธีการเช่าแทน ซึ่งอาจส่งผลให้มีสายการบินใหม่ๆเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นเพราะการเช่ามักใช้หลักทรัพย์และเครดิตน้อยกว่าการเช่าซื้อนั่นเอง
สำหรับสายการบินในประเทศไทยก็มีการเช่าเครื่องบินมาทำการบินเป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่างลูกค้าของทั้ง AerCap และ GECAS ก็เช่น การบินไทยที่เช่า Boeing 787-8/9 จาก AerCap หรือนกแอร์ที่เช่า Boeing 737-800(บางลำ) จาก GECAS เป็นต้น
หลังจากนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าตลาดการเช่าเครื่องบินนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอย่างไรหลังจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ ยิ่งหลังจากผ่านวิกฤติ Covid-19 ที่บริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบินได้รับผลกระทบจากการเจรจาลดค่าเช่าและเลื่อนการชำระค่าเช่าจากหลากหลายสายการบินทั่วโลก การควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ AerCap ได้หรือไม่ ต้องติดตามกัน…..
Tags: ข่าวการบิน Last modified: March 11, 2021