หลังจากที่มีข่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มีคำสั่งให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยทบทวนหลักคิดราคาบัตรโดยสารและให้ศึกษาหลักเกณฑ์ในไทยและทั่วโลกว่าใช้หลักการใดในการคำนวณ โดยยังกล่าวว่า เบื้องต้นเท่าที่ทราบหลักสากลที่ดำเนินการคือ ใช้ระยะทาง และน้ำหนัก เป็นตัวกำหนดอัตราค่าโดยสาร แต่สิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้กลับพบว่า สายการบินนำเรื่องเวลาการซื้อตั๋วโดยสารเข้ามาเป็นตัวกำหนดค่าโดยสารด้วย เช่น ใครซื้อตั๋วล่วงหน้าก่อนการเดินทาง 1 เดือน จะได้ราคาถูก ส่วนใครที่ซื้อตั๋วก่อนเดินทาง 1 วันจะมีราคาแพง ตนมองว่าการกำหนดราคาในลักษณะนี้ไม่ใช่หลักสากล ไม่เป็นเหตุเป็นผล(Make Sense) และไม่ตอบโจทย์ผู้รับบริการ (ที่มา เดลินิวส์)
ก่อนจะไปรู้จักกับหลักการคำนวณราคาบัตรโดยสาร ให้ทุกคนลองนึกถึงประสบการณ์การจองตั๋วทั้งสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Carrier) ที่จะมีราคาหลากหลายไปหมด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการด้วยกัน อาทิเช่น เส้นทาง วันที่เดินทาง เวลาที่เดินทาง แม้กระทั้งจำนวนผู้โดยสารที่เดินทาง ทำให้ในเที่ยวบินหนึ่งๆนั้นจะมีระดับราคาหลากหลายมาก ยกตัวอย่างเช่น ในเที่ยวบินจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ของสายการบินต้นทุนต่ำ อาจจะมีคนซื้อบัตรโดยสารราคาตั้งแต่ 800 บาทไปจนถึง 5,000 บาท ซึ่งคนที่ซื้อราคา 800 และ 5,000 อาจจะนั่งอยู่ข้างกันก็ได้ แต่ทั้งสองคนนั้นได้รับบริการจากสายการบินไม่แตกต่างกัน
การตั้งราคาบัตรโดยสาร (Pricing)
การตั้งราคาบัตรโดยสารนั้นมีปัจจัยต่างๆเกี่ยวข้องหลายปัจจัยด้วยกัน โดยในอดีตที่ผ่านมา สายการบินพยายามจะตั้งราคาโดยใช้รูปแบบการเดินทางของผู้โดยสารเป็นตัวกำหนด ยกตัวอย่างเช่น การซื้อบัตรโดยสารไปกลับจะถูกกว่าซื้อเที่ยวเดียวสองเที่ยว (Roundtrip Pricing) เนื่องจากสายการบินต้องการที่จะขายที่นั่งทั้งสองขานั่นเอง วิธีนี้สายการบินจะทำราคาที่ต่างๆกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการเดินทางเป็นหลัก ยิ่งบัตรโดยสารมีความยืดหยุ่นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีราคาสูงขึ้นเท่านั้น รวมทั้งระยะเวลาระหว่างการซื้อกับการเดินทาง (Advanced Purchase) ก็มีผลต่อราคาเช่นกัน ยิ่งซื้อล่วงหน้านานเท่าไหร่มักจะได้ราคาที่ต่ำกว่าใกล้วันเดินทาง สำหรับสายการบินที่มีชั้นธุรกิจให้บริการนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยทีเดียวที่บัตรโดยสารชั้นธุรกิจที่ซื้อล่วงหน้านานๆจะมีราคาต่ำกว่าชั้นประหยัดที่ซื้อใกล้วันเดินทาง
ในยุคปัจจุบันหลังจากการแพร่หลายของสายการบินต้นทุนต่ำ มีการตั้งราคาแบบใหม่นั่นคือ การตั้งราคาแบบขาเดียว (One-way Pricing) กล่าวคือ สายการบินจะตั้งราคาในแต่ละขา(Sector) ถ้าผู้โดยสารจองเที่ยวบินไปกลับ ราคาก็จะเป็นเที่ยวบิน 2 ขา รวมกันนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้มีประโยชน์กับผู้โดยสารคือเข้าใจได้ง่ายและสามารถซื้อบัตรโดยสารไปกลับด้วยคนละสายการบินได้ แต่สำหรับสายการบินนั้นจะต้องเน้นการบริหารรายได้ (Revenue Mangement) อย่างมากเพื่อที่จะทำรายได้ให้สูงที่สุด ซึ่งจะกล่าวถึงการบริหารรายได้ในลำดับถัดไป
ระดับราคาของบัตรโดยสาร (Prices, Fares หรือ Tariff)
หมายถึงระดับราคาที่สายการบินตั้งขึ้นสำหรับการขาย จะมีกี่ระดับราคานั้นขึ้นอยู่กับแต่ละสายการบิน ในปัจจุบันสายการบินต้นทุนต่ำมักจะมีระดับราคามากกว่าสายการบิน Full Service มักจะใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษแทนแต่ละระดับราคาเรียกว่า Fare Class โดยแต่ละสายการบินก็จะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆและระดับราคาต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น
Fare Class – A 800 บาท
Fare Class – B 1,000 บาท
Fare Class – C 1,500 บาท
Fare Class – D 2,000 บาท
Fare Class – E 3,000 บาท
Fare Class – F 5,000 บาท
จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น ผู้โดยสารสองคนที่นั่งข้างกัน คนหนึ่งซื้อบัตรโดยสารมาในราคา 800 บาท อีกคนซื้อมาราคา 5,000 บาท หมายความว่าผู้โดยสารทั้งสองคนซื้อ Fare Class A และ F มาตามลำดับนั่นเอง
การบริหารรายได้ (Revenue Management) กลไกสำคัญในการสร้างรายได้ของสายการบิน
การบริหารรายได้ของสายการบิน เป็นการบริหาร “ราคาขาย” ของแต่ละเที่ยวบินเพื่อสร้างรายได้ที่มากที่สุด โดยกลไกนี้จะเป็นผู้กำหนดจำนวนที่นั่งในแต่ละราคา โดยเครื่องมือที่ใช้นั่นคือ “ระดับราคา” หรือ “Fare Class” ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น ในหนึ่งเที่ยวบินมีที่นั่งทั้งหมด 100 ที่นั่ง จะมีการจัดสรร Fare Class ทั้งหมดไว้สำหรับ 100 ที่นั่งนั้นในจำนวนไม่เท่ากันและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยจะมีการไล่ระดับราคาขึ้นไปเรื่อยๆเมื่อระดับราคาที่ต่ำกว่าได้ทำการขายหมดไป นี่ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำไมยิ่งซื้อบัตรโดยสารช้ายิ่งได้ราคาแพง เพราะที่นั่งที่ราคาต่ำกว่าได้หมดไปแล้วนั่นเอง
ในยุคก่อนที่ระบบต่างๆรวมถึงคอมพิวเตอร์ไม่ได้ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน ราคาบัตรโดยสารจะไม่ได้หลากหลายและเปลี่ยนแปลงเร็ว (Dynamic) อย่างทุกวันนี้ จึงมักจะเป็นรูปแบบของการบริหารที่นั่งหรือ Space Control เพื่อควบคุมไม่ให้ขายที่นั่งเกินจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินจริงๆ แต่ในปัจจุบันจากการเข้ามาของระบบบริหารรายได้ใหม่ๆ สายการบินสามารถเปลี่ยนแปลงราคาบัตรโดยสารได้แทบจะทันที การบริหารรายได้จึงเป็นไปในทาง Dynamic มากขึ้น โดยปัจจัยหลักๆที่จะส่งผลต่อราคาบัตรโดยสาร อาทิเช่น
– เส้นทาง : เส้นทางระยะทางไกลกว่าจะมีราคาสูงกว่าจากต้นทุนการปฏิบัติการบิน รวมถึงเส้นทางที่เป็นที่นิยมกว่ามักจะมีราคาสูงกว่าเนื่องจากมีความต้องการเดินทางที่มากกว่า
– วันเดินทาง : วันสุดสัปดาห์และวันหยุด รวมถึงเทศกาล จะมีราคาสูงกว่าวันธรรมดา
– เวลาเดินทาง : เที่ยวบินที่เป็นที่ต้องการมากกว่าจะมีราคาสูงกว่า เช่น เที่ยวบินเดินทางจากกรุงเทพไปยุโรป เที่ยวบินที่ไปถึงช่วงเช้าจะมีราคาสูงกว่าเที่ยวบินอื่น
– คู่แข่ง : เส้นทางที่มีคู่แข่งน้อยจะมีราคาสูงกว่าเส้นทางที่มีคู่แข่งเยอะที่มีราคาต่ำจากสภาวะการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางดอนเมือง – แม่สอด ของนกแอร์ที่ไม่มีคู่แข่งจะสามารถตั้งราคาเริ่มต้นในระดับสูงได้
– ระยะเวลาระหว่างการซื้อกับวันเดินทาง : เป็นอีกปัจจัยหลักเช่นกัน เพราะการซื้อใกล้วันเดินทาง ที่นั่งที่มีราคาต่ำมักถูกขายหมดไปแล้ว ที่นั่งบนเที่ยวบินเหลือน้อยและมักจะเหลือแต่ Fare Class สูงๆที่ราคาแพง
– จำนวนผู้โดยสารที่จองพร้อมกัน : อาจจะดูไม่น่าเป็นไปได้แต่ก็เกิดขึ้นจริง สมมติ Fare Class A ราคา 800 บาทเหลืออยู่ 2 ที่นั่งในเที่ยวบินที่ต้องการซื้อ แต่การจองนั้นมีผู้โดยสาร 3 คน ทั้ง 3 คนนั้นจึงต้องซื้อบัตรโดยสารที่ Fare Class ถัดไปแทนนั่นเอง
จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาจะสังเกตได้ว่า ราคาของบัตรโดยสารที่แท้จริงแล้วนั้นถูกกำหนดโดย “ความต้องการซื้อและความต้องการขาย” หรืออุปสงค์และอุปทานนั่นเอง การบริหารรายได้ที่ทำให้เกิดราคาแบบนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์กับสายการบินในการเพิ่มโอกาสของการสร้างรายได้แล้ว ยังส่งผลดีต่อภาพของตลาดโดยรวมในมุมของผู้โดยสารที่ได้ซื้อบัตรโดยสารในราคาที่สะท้อนอุปสงค์และอุปทานที่แท้จริง
ลองนึกภาพว่าสายการบินทำการขายบัตรโดยสารราคาเดียว (Fix Rate) จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่จะเกิดขึ้นเร็วที่สุดก็คือผู้โดยสารจะรอจนถึงใกล้ๆหรือวันสุดท้ายก่อนเดินทางค่อยทำการซื้อบัตรโดยสาร ทำให้สายการบินไม่สามารถคาดการณ์ความต้องการเดินทางและวางแผนตารางบินได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการบิน หรืออีกตัวอย่างคือ ถ้ามีการขายบัตรโดยสารไปญี่ปุ่นราคาเดียวที่ 10,000 บาท นักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่มีงบประมาณ 8,000 บาทก็จะไม่สามารถเดินทางได้ ซึ่งในปัจจุบันสายการบินขายให้นักท่องเที่ยวหน้าใหม่ในราคา 8,000 บาทและอาจไปขายให้นักธุรกิจที่มีกำลังซื้อและความจำเป็นมากกว่าในราคา 12,000 บาท ซึ่งค่าเฉลี่ยของราคาเท่ากันที่ 10,000 นั่นเอง
ปัจจุบันเกือบทุกสายการบินทั่วโลกใช้กลไลการบริหารรายได้และราคาเช่นนี้ ซึ่งแต่ละสายการบินก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยเป็นของตัวเองไป แต่หัวใจหลักนั้นเหมือนกันนั่นคือ..ราคาของบัตรโดยสารที่ถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง
Tags: ข่าวการบิน, เรื่องเล่าการบิน Last modified: March 30, 2022