จากรายงานของสำนักข่าว Reuters เปิดเผยว่า สายการบิน Cathay Pacific ร่วมกับ Airbus กำลังร่วมกันพัฒนาให้เครื่องบินแบบ Airbus A350 สามารถทำการบินด้วยนักบินคนเดียวได้ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของเที่ยวบินที่ทำการบินระยะไกล
โครงการนี้ถูกเรียกกันภายใน Airbus ว่า “Project Connect” ซึ่งมีเป้าหมายในการรับรองให้ A350 สามารถทำการบินด้วยนักบินเพียงคนเดียวขณะทำการบินระดับ (High-altitude Cruise) ซึ่งแหล่งข่าวเปิดเผยว่าจะเริ่มใช้งานจริงบนเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารของ Cathay Pacific ในปี 2025
รายงานข่าวยังระบุเพิ่มเติมว่าว่า อุปสรรคที่สำคัญของโครงการนี้คือการยอมรับของนานาชาติ ซึ่งอาจจะทำให้การนำไปใช้งานจริงไม่เป็นวงกว้างอย่างที่ควร แต่ถ้าสามารถนำไปใช้จริงได้นั้น จะสามารถลดจำนวนนักบินในเส้นทางระยะไกลได้เหลือเพียง 2 คน จาก 3-4 คนในปัจจุบัน โดยนักบิน 2 คนนั้นจะทำการบินร่วมกันขณะนำเครื่องขึ้นและลงจอด โดยระหว่างเครื่องบินทำการบินระดับนั้นก็สามารถสลับกันไปพักผ่อนได้
ทั้งนี้ สายการบิน Lufthansa ก็กำลังพัฒนาโครงการเช่นนี้อยู่เช่นกัน แต่ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการนำมาใช้งานจริงแต่อย่างใด ส่วนตัวแทนสายการบิน Cathay Pacific เปิดเผยว่า สายการบินมีส่วนร่วมกับการพัฒนานี้จริง แต่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะเป็นสายการบินแรกที่ใช้งานจริงแต่อย่างใดและการทดสอบนั้นจะแบ่งเป็นในด้านการพาณิชย์ คือ ต้นทุนต่างๆที่ประหยัดได้ รวมถึงด้านกฎและข้อบังคับ สุดท้ายคือในด้านความปลอดภัยที่สายการบินจะยึดถือเป็นหลักในการทดสอบ
ข้อมูลจากองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency)
องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency) หรือ EASA เปิดเผยเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ในการทำการบินด้วยนักบินคนเดียวนั้น จะต้องมีการตรวจสอบการตื่นตัวและสัญญาณชีพของนักบินอย่างต่อเนื่องด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้บนเครื่องบิน และเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับเครื่องบินหรือเกิดปัญหากับร่างกายนักบิน นักบินอีกคนจะต้องรับรู้และเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้โดยทันที
ด้าน Patrick Ky ซึ่งดำรงตำแหน่ง Executive Director ของ EASA กล่าวว่า โดยปกติแล้ว บนเที่ยวบินระยะไกล เวลาเครื่องบินทำการบินระดับที่ความสูงมากๆนั้นมักจะไม่มีอุปสรรคเกิดขึ้นมากมายนักในห้องนักบิน ซึ่งดูไม่มีปัญหาถ้าจะคงเหลือนักบินเพียงคนเดียวในขณะนั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพัฒนาระบบต่างๆให้รองรับเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่นปัญหากับร่างกายนักบินที่ทำการบิน ณ ขณะนั้น ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเที่ยวบิน
มุมมองของนักบิน
ในด้านของนายกสมาคมนักบินแห่งสหภาพยุโรป Otjan de Bruijn กล่าวว่า เป็นการยากที่จะหาเหตุผลมาสนับสนุนโครงการพัฒนานี้ โดยเฉพาะการพัฒนาใดๆที่มุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนต่างๆนั้นมักจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงขึ้นมา
สำหรับผู้ผลิตเครื่องบินอย่าง Airbus นั้น มีแผนจะพัฒนาระบบนักบินอัตโนมัติ (Autopilot) และระบบแจ้งเตือนต่างๆเพื่อรองรับกับการทำการบินด้วยนักบินคนเดียว ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดต่อไป
____________________________________
เรื่องนี้เรามองว่ามีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงแต่อยู่ตรงข้ามกัน 2 เรื่อง หนึ่งคือสายการบินต่างๆย่อมต้องการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ยิ่งหลังจากผ่านเหตุการณ์ Covid-19 ไปที่เกือบทุกสายประสบภาวะขาดทุน ถ้าทำได้ย่อมสามารถลดต้นทุนได้อย่างจับต้องได้
่ในทางกลับกัน สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกเรื่องก็คือความปลอดภัยที่ต้องไม่ต่างจากการปฏิบัติแบบเดิมแม้แต่นิดเดียว รวมถึงภาวะการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างมากในปัจจุบัน การเริ่มใช้มาตรการเช่นนี้ยิ่งทำให้ความต้องการในตลาดแรงงานลดลง ซ้ำเติมไปจากภาวะการแพร่ระบาดของ Covid-19 ยิ่งขึ้นไปอีก
จริงๆแล้วเคยมีการพูดคุยเรื่องนี้มาหลายครั้งจากหลายหน่วยงาน เพียงครั้งนี้มีการเอ่ยชื่อสายการบินและบริษัทผลิตเครื่องบิน รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยขึ้นมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างก็คงเป็นแค่การคาดการณ์ ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าผลสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร
Last modified: June 17, 2021