เส้นทาง มอสโคว – ซิมเฟโรปอล (ไครเมีย) กลายเป็นเส้นทางระหว่างประเทศที่คับคั่งที่สุดในโลกประจำเดือนพฤษภาคม 2021…..เส้นทางนี้น่าสนใจอย่างไร?
– DME-SIP Moscow Domodedovo – Simferopol จำนวน 285,582 ที่นั่ง– SIP-SVO Simferopol – Moscow Sheremetyevo จำนวน 197,170 ที่นั่ง– MCO-SJU Orlando – San Juan จำนวน 181,600 ที่นั่ง– CAI-JED Cairo – Jeddah จำนวน 176,658 ที่นั่ง– IAH-MEX Houston – Mexico City จำนวน 131,152 ที่นั่ง
ซึ่งเส้นทางจากรัสเซียสู่ไครเมียนั้นน่าสนใจอย่างไร….
คาบสมุทรไครเมีย ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศยูเครนและทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศรัสเซีย มีดินแดนติดกับทะเลดำ ถือเป็นดินแดนของประเทศยูเครนจนถึงกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา
ณ ขณะนั้นมีเพียง 4 ประเทศและดินแดนเท่านั้นที่รับรองการมีอยู่ของสาธารณรัฐไครเมีย นั่นคือ รัสเซีย, อับฮาเซีย, นากอร์โน-คาราบัค, เซาท์ออสซีเชีย โดยการประกาศเอกราชรวมถึงการทำประชามตินั้น เกิดขึ้นในขณะที่รัสเซียใช้กำลังทหารครอบครองคาบสมุทรไครเมียอยู่นั่นเอง
หลังจากนั้นในวันที่ 27 มีนาคมในปีเดียวกัน ได้มีการลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค โดยการประชุมนั้นมีมติปฏิเสธการแบ่งแยกดินแดนของไครเมียออกจากยูเครน รวมถึงการผนวกดินแดนเข้ากับรัสเซีย โดยหนึ่งในกว่า 100 ประเทศที่ลงมติครั้งนั้นมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมา ผลจากการผนวกไครเมียด้วยกำลังทหารทำให้นานาชาติคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลต่อเศรษฐกิจและค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงเกือบ 50% อย่างที่เราน่าจะเห็นข่าวผ่านตากันนั่นเอง
ผ่านมา 7 ปี ปัจจุบันไครเมียยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งในมุมรัสเซียแล้วมองว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ การเดินทางไปมาโดยเฉพาะทางอากาศก็เป็นไปอย่างคึกคัก โดยไครเมียมีเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือซิมเฟโรปอล มีท่าอากาศยานขนาดใหญ่ที่รองรับคนมากกว่า 6 ล้านคนต่อปี (ข้อมูลจากปี 2019)
สำหรับมุมของสายการบินจากประเทศรัสเซีย มองว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทาง “ภายในประเทศ” ยกตัวอย่างการการขายบัตรโดยสารผ่านเว็ปไซต์ของสายการบิน Aeroflot จะระบุชัดเจนเลยว่าจุดหมายนี้อยู่ในประเทศรัสเซีย โดยสายการบินที่ทำการบินเข้าออกท่าอากาศยานแห่งนี้หลักๆคือ Aeroflot, S7, Ural Airlines, Yakutia Airlines สู่จุดหมายปลายทางทั่วประเทศรัสเซีย
สำหรับในมุมของประเทศอื่นๆที่ไม่ได้รับรองการมีอยู่ของสาธารณรัฐไครเมียรวมทั้งประเทศไทย ย่อมต้องมองว่าเส้นทางจากรัสเซียอยู่ไครเมียเป็นเส้นทาง “ระหว่างประเทศ” สู่ยูเครน ดังเช่นข้อมูลจาก OAG ซึ่งเป็นบริษัทจากสหราชอาณาจักรที่ย่อมต้องจัดเส้นทางนี้อยู่ในหมวดหมู่เส้นทางระหว่างประเทศนั่นเอง
ช่วงความต้องการเดินทางระหว่างประเทศยังไม่กลับมาแบบเต็มตัวเช่นนี้ เราได้เห็นเส้นทางใหม่ๆที่ปกติแล้วแทบไม่ได้ติดอันดับเพราะมีเส้นทางระหว่างประเทศมากมายทั่วโลกที่มีการเดินทางคับคั่งมากกว่านี้หลายเท่า การแพร่ระบาดของ Covid-19 กว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้เราเห็นอะไรใหม่ๆในอุตสาหกรรมการบินมากมายเลยทีเดียว