ช่วงนี้บรรยากาศการเดินทางด้วยเครื่องบินเริ่มทยอยกลับมาคึกคักทีละน้อย หลังจากการผ่อนปรนของรัฐบาลให้มีการเดินทางภายในประเทศได้ แต่ย้อนกลับไปช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา เมื่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การเดินทางทางอากาศแทบเป็นศูนย์เลยทีเดียว เมื่อเครื่องบินที่ควรจะอยู่บนฟ้ากลับต้องมาจอดเรียงรายกันบนพื้น จึงเกิดเป็นภาพที่แปลกตาและไม่ได้มีให้พบเห็นบ่อยๆขึ้นมา
ผลกระทบต่อสายการบินจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
เครื่องบินบนฟ้า = รายได้ของสายการบิน
เครื่องบินบนพื้น = รายจ่ายของสายการบิน
จากเหตุผลดังกล่าว สายการบินทุกสายจึงพยายามทำให้เครื่องบินของตัวเองอยู่บนฟ้าให้นานที่สุด ภาพที่คุ้นตาก็คือ เครื่องบินลงจอดส่งผู้โดยสาร แล้วรีบรับผู้โดยสารชุดใหม่วนไปแบบนี้เรื่อยๆเกือบทั้งวันทั้งคืน (สายการบินหนึ่งในไทยสามารถลงจอดและออกบินเที่ยวต่อไปได้ภายใน 25 นาที) จะกลับมาจอดก็ช่วงดึกมากๆและออกบินใหม่เช้าตรู่ของอีกวัน โดยจริงๆแล้วเครื่องบินไม่มีข้อจำกัดในการทำการบินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ถ้ามีการตรวจเช็คตามระยะที่ผู้ผลิตระบุไว้ แต่ที่สายการบินไม่ทำแบบนั้นเพราะข้อจำกัดด้านลูกเรือและด้านการพาณิชย์นั่นเอง
เมื่อสายการบินอยากเอาเครื่องบินไปอยู่บนฟ้าให้นานที่สุด ภาพสนามบินก็จะเป็นอย่างที่ทุกคนคุ้นเคย เครื่องบินวิ่งเข้าออก ขึ้นลงตลอดเวลา ผู้คนพลุกพล่านเดินทางเข้าออกสนามบิน แต่สิ่งที่ไม่มีใครเคยได้เห็นก็เกิดขึ้นแล้ว กับวันที่เครื่องบินทุกลำจอดนิ่งๆ กับการที่หลุมจอด 101 หลุมจอดของสนามบินดอนเมืองไม่พอให้จอด จนทำให้ต้องแทรกหัวเครื่องเข้าระหว่างกัน จริงๆแล้วถือเป็นภาพที่สวยงามและหลายคนไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ถ้าให้เลือกได้ ทุกคนคงอยากให้เครื่องบินทุกลำลอยอยู่บนฟ้ามากกว่า
เพราะชื่อก็บอกอยู่ “เครื่องบิน” ถูกสร้างมาให้ “บิน” นั่นเอง
ขณะนี้ (เดือนมิถุนายน 2563) น่านฟ้าไทยยังอยู่ภายใต้ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ซึ่งประกาศโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ประกาศฉบับเต็ม ทำให้สายการบินสามารถให้บริการได้แค่เที่ยวบินในประเทศเท่านั้น ยกเว้นเที่ยวบินบางประเภทที่มีการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เช่นเที่ยวบินขนส่งสินค้า หรือเที่ยวบินพิเศษเพื่อรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา (Repatriation flight) เช่น เที่ยวบินของการบินไทยรับคนไทยจากออสเตรเลียกลับประเทศไทย เป็นต้น
Last modified: June 19, 2020