Written by 10:54 pm Aviation

เที่ยวบิน QF1….เกือบจะเป็น “Hull Loss” ครั้งแรกของ Qantas

อีกหนึ่งเหตุการณ์ใหญ่ของสายการบิน Qantas ที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย กับการไถลทางวิ่ง (Runway Excursion) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง

23 กันยายน 2542  เกิดเหตุการณ์เครื่องบินไถลทางวิ่ง (Runway Excursion) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยเป็นเครื่องบินแบบ Boeing 747-400 ทะเบียน VH-OJH ของสายการบิน Qantas จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญของสายการบิน ที่เกือบลบสถิติความปลอดภัยสำคัญของสายการบินเลยทีเดียว

เที่ยวบิน QF1 นั้นเป็นเที่ยวบินที่ได้รับฉายาว่า “Kangaroo Route” โดยในสมัยนั้นทำการบินเส้นทาง ซิดนีย์-กรุงเทพฯ-ลอนดอน โดยเที่ยวบินที่เกิดเหตุดังกล่าว เดินทางออกมาจากซิดนีย์ เตรียมลงจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในช่วงดึกของวันที่ 23 กันยายน 2542 โดยก่อนลงจอด สภาพอากาศบริเวณรอบดอนเมืองมีฝนตกหนัก มีทัศนวิสัยขณะลงจอดประมาณ 1.5 ไมล์เท่านั้น

ก่อนเที่ยวบิน QF1 ลงจอด มี Airbus A330 ของการบินไทยลงจอดสำเร็จ แต่มีอีกเที่ยวบินของ Qantas (เที่ยวบิน QF15 ซิดนีย์-กรุงเทพฯ-โรม) ลงจอดไม่สำเร็จ ต้องบินวนขึ้นใหม่ แต่นักบินของเที่ยวบิน QF1 ตัดสินใจลงจอด โดยให้นักบินผู้ช่วยเป็นผู้บังคับเครื่องบิน

ลำดับเหตุการณ์คร่าวๆ

เมื่อเครื่องบินลดระดับมาจนใกล้ลงจอดภายใต้สภาพอากาศเลวร้าย โดยเฉพาะความสูงกับความเร็วยังคงมีมาก กัปตันจึงตัดสินใจนำเครื่องขึ้นบินวน (Go Around) หลังจากนั้นไม่นาน ล้อของเครื่องบินสัมผัสทางวิ่ง แต่เลยหัวทางวิ่ง (บริเวณลงจอด) มาเกือบ 1 กิโลเมตร กัปตันจึงตัดสินใจยกเลิกการ Go Around พร้อมทั้งลดกำลังขับของเครื่องยนต์ แต่ด้วยพื้นทางวิ่งที่ลื่น ทำให้ล้อของเครื่องบินเกิดการ “เหินน้ำ” และลื่นไถลออกไปจอดอยู่บนสนามหญ้าปลายทางวิ่ง 21L โดยในเที่ยวบินนี้มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยจำนวน 38 คน จากผู้โดยสารและลูกเรือรวม 410 คน

บริเวณที่เครื่องบินลื่นไถลไปจอดอยู่

มีข้อมูลเปิดเผยในรายงานการสืบสวนโดย Australian Transport Safety Bureau (ATSB) ว่า มีข้อผิดพลาดบางประการในการสื่อสารระหว่างกัปตันและนักบินผู้ช่วย ทำให้การตัดสินใจต่างๆของกัปตัน โดยเฉพาะการ Go Around และยกเลิก Go Around นั้น นักบินทั้ง 2 คน อาจจะไม่ได้ทำการบินไปในทางเดียวกัน

ความเสียหายของ Boeing 747-400

ภายหลังเหตุการณ์ เครื่องบินทะเบียน VH-OJH ลำนี้ เกิดความเสียหายร้ายแรงหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณล้อทั้งหมด และเครื่องยนต์ทางด้านขวา รวมถึงการกระทบกระเทือนโครงสร้างหลายแห่ง มีการประเมินในตอนแรกว่า Qantas จะต้องปลดประจำการเครื่องบินลำนี้ เนื่องจากความเสียหายรุนแรงเกินกว่าความคุ้มค่าในการซ่อม แต่ Qantas ตัดสินใจซ่อมเครื่องบินลำนี้ แม้ไม่เคยมีการเปิดเผยมูลค่าการซ่อมอย่างเป็นทางการ แต่มีการคาดการณ์ไว้ว่าอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ซ่อมที่ฝ่ายช่างการบินไทย โดยความร่วมมือหลักจาก Qantas, Boeing และการบินไทย)


 

การซ่อมครั้งนี้ ทำให้ Qantas ยังคงรักษาสถิติความปลอดภัยที่ไม่เคยมีอุบัติเหตุถึงขั้นจำหน่าย (Hull Loss) มาตั้งแต่สายการบินเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินไอพ่น โดยหลังจากซ่อมแล้วเสร็จ เครื่องบินลำนี้ก็กลับไปให้บริการตามปกติอีกกว่า 10 ปี ก่อนที่จะปลดประจำการไปเมื่อปี 2555

_____________________________
 
ภาพประกอบจาก Australian Transport Safety Bureau (ATSB)
สามารถอ่านรายงานสอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ฉบับเต็มได้ที่นี่ 
Tags: , Last modified: September 22, 2022
Close