อีกหนึ่งเส้นทางที่หลายคนรอคอย กับท่าอากาศยานนครราชสีมาหรือโคราช ที่ขาดหายจากการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ไปนานหลายปี ซึ่งชาวโคราชได้กลับมามีทางเลือกการเดินทางทางอากาศอีกครั้ง จากการประกาศเปิดให้บริการที่ท่าอากาศยานนครราชสีมาของสายการบินนกแอร์ โดยในช่วงแรกจะให้บริการในเส้นทางระหว่าง เชียงใหม่ – นครราชสีมา ด้วยความถี่ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทำการบินด้วยเครื่องบินแบบ Q400 เริ่มให้บริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ท่าอากาศยานนครราชสีมา
ท่าอาศยานนครราชสีมา (ICAO Code : VTUQ / IATA Code : NAK)เป็นท่าอากาศยานสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2540 ตั้งอยู่ใน ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 30 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,625 ไร่ มีทางวิ่ง 1 ทางวิ่งความยาว 2,100 เมตร อาคารผู้โดยสารขนาด 5,500 ตารางเมตร สามารถรองรับเครื่องบินได้จนถึงขนาด Boeing 737 และ Airbus A320
ท่าอากาศยานแห่งนี้ถือเป็นจุดหมาย “ปราบเซียน” ก็ว่าได้ กล่าวคือ มีสายการบินต่างๆแวะเวียนกันมาให้บริการที่ท่าอาศยานแห่งนี้ แต่มักจะทำการบินได้ช่วงเวลาหนึ่งก็ต้องปิดเส้นทางไป สายการบินต่างๆที่เคยให้บริการในเส้นทางต่างๆกันไป ไม่ว่าจะเป็น การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย แอร์อันดามัน แฮปปี้แอร์ และกานต์แอร์ เป็นต้น ส่วนสายการบินสุดท้ายก่อนการเปิดเส้นทางบินของนกแอร์ครั้งนี้คือ สายการบินนิวเจนแอร์เวย์ ที่ให้บริการเส้นทางจากนครราชสีมาสู่ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ ด้วย Boeing 737 ได้ปิดเส้นทางไปตั้งแต่ปี 2561 นั่นเอง
บรรยากาศการเดินทาง นครราชสีมา – เชียงใหม่ โดยสายการบินนกแอร์
เรามีกำหนดการเดินทางกับเที่ยวบิน DD9331 ที่จะออกเดินทางจากท่าอากาศยานนครราชสีมาไปยังจังหวัดเชียงใหม่ในเวลาเช้าตรู่ (05.30 น.) ของวันที่ 2 สิงหาคม 2565 โดยเที่ยวบินนี้ทำการบินด้วยเครื่องบินใบพัดเทอร์โบแฟน DHC8 Q400 ขนาด 86 ที่นั่ง เที่ยวบินที่เราเดินทางนั้นใช้เครื่องบินทะเบียน HS-DQB “นกข้าวเหนียว” ในการเดินทาง ตัวเครื่องบินมีอายุ 8 ปี เป็นเครื่องบินรุ่นนี้ลำที่ 2 ที่สายการบินนกแอร์รับเข้าประจำการสู่ฝูงบิน
สำหรับเที่ยวบิน DD9331 ที่เดินทางออกจากนครราชสีมาไปยังเชียงใหม่ช่วงเช้าตรู่นั้น ใช้เครื่องบินลำเดียวกับเที่ยวบินจากเที่ยวบินก่อนหน้าอย่าง DD9330 ที่เดินทางมาจากเชียงใหม่ 20.45 – 22.15 ของวันที่ 1 สิงหาคม 2565 และจอดเครื่องค้างคืนไว้ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา
บรรยากาศภายในอาคารผู้โดยสาร
อาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานนครราชสีมาเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 5,500 ตารางเมตร ส่วนของผู้โดยสารขาเข้าและขาออกอยู่ในอาคารเดียวกัน ปัจจุบันมีจุดตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง 2 เคาน์เตอร์ โดยติดลวดลายสายการบินนกแอร์ทั้งหมด เนื่องจากเป็นสายการบินเดียวที่ให้บริการณ ขณะนี้ สำหรับร้านค้าต่างๆ ณ วันที่เดินทางยังไม่มีให้บริการแต่อย่างใด
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สายการบิน นกแอร์จะไม่มีพนักงานประจำอยู่ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมาในช่วงแรก เนื่องจากทำการบินด้วยความถี่ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่จะใช้วิธีการสลับพนักงานจากสถานีอื่นๆใกล้เคียงมาปฏิบัติงานในวันที่มีเที่ยวบินแทน
โถงผู้โดยสารขาออก
หลังจากรับบัตรผ่านขึ้นเครื่องจากเจ้าหน้าที่ของสายการบินนกแอร์แล้ว เราได้ผ่านจุดตรวจความปลอดภัยตามมาตรการต่างๆเหมือนกับท่าอากาศยานอื่นๆในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ก่อนผ่านไปนั่งรอเรียกขึ้นเครื่องที่โถงผู้โดยสารขาออก โดยท่าอากาศยานแห่งนี้มีประตูขึ้นเครื่องบิน 1 ประตู ไม่มีทางเทียบเครื่องบิน ใช้วิธีเดินไป-กลับ ระหว่างอาคารและตัวเครื่องบินเท่านั้น ส่วนจำนวนเก้าอี้นั่งรอในโถงผู้โดยสารขาออกมีปริมาณเพียงพอกับเที่ยวบินที่เรากำลังจะเดินทางที่มีผู้โดยสารประมาณ 70 คน จากความจุ 86 คนของเครื่องบินรุ่นนี้ ส่วนห้องน้ำมีให้บริการ 1 จุด
บรรยากาศการเรียกและเดินขึ้นเครื่องบินช่วงเช้าตรู่
เนื่องด้วยท่าอากาศยานแห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก รวมถึงเที่ยวบินที่เราเดินทางเป็นเที่ยวบินเดียว ทำให้กระบวนการต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีก็ถึงเวลาเรียกขึ้นเครื่องแล้ว
บรรยากาศการเดินทางเที่ยวบิน DD9331 เส้นทาง นครราชสีมา – เชียงใหม่
เส้นทางจากนครราชสีมาไปเชียงใหม่ มีระยะเป็นเส้นตรงประมาณ 560 กิโลเมตร ใกล้เคียงกับระยะทางจากกรุงเทพฯ(ดอนเมือง)ไปยังเชียงใหม่ ใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ทำการบินในทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านจังหวัด ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง และด้วยเป็นเที่ยวบินที่ออกเดินทางช่วงเช้าตรู่ ผู้โดยสารที่นั่งฝั่งขวาของตัวเครื่องจะได้เห็นวิวพระอาทิตย์ขึ้นอย่างสวยงามอีกด้วย
ณ วันที่เดินทาง นกแอร์ยังไม่มีบริการอาหารและเครื่องดื่มใดๆในเที่ยวบินดังกล่าว แต่เผลอแป๊ปเดียว ด้วยความเร็วเดินทางของ Q400 ที่ค่อนข้างเร็วแม้เป็นเครื่องบินใบพัดเทอร์โบแฟน ใช้เวลาเพียงชั่วโมงนิดๆเราก็เดินทางถึงเชียงใหม่ เตรียมลดระดับลงท่าอากาศยานเชียงใหม่ในช่วงเช้า มีหมอกอยู่ค่อนข้างมาก
ท่าอากาศยานเชียงใหม่จัดอุโมงค์น้ำต้อนรับ “Water Cannon Salute”
ก่อนวิ่งเข้าจอดยังหลุมจอดที่กำหนดไว้ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้จัดอุโมงค์น้ำต้อนรับเพื่อเป็นเกียรติและแสดงความยินดีต่อเที่ยวบินนี้
สำหรับอุโมงค์น้ำหรือ “Water Salute” เป็นการใช้รถดับเพลิง(หรือเรือดับเพลิง) ฉีดน้ำให้เป็นอุโมงค์น้ำ ส่วนมากจะใช้สองคัน(หรือลำ)ฉีดน้ำเข้าหากัน โดยมีเครื่องบินหรือเรือวิ่งลอดใต้อุโมงค์น้ำไป ถือเป็นการให้เกียรติอย่างมากและมักจะใช้ในโอกาสพิเศษต่างๆ โดยธรรมเนียมนี้มีใช้กันทั่วไปกับเรือและเครื่องบิน (หลายๆอย่างเครื่องบินเอาธรรมเนียมมากจากการเดินเรือ เช่นผู้โดยสารขึ้นทางซ้าย หรือเรียกว่า Port ด้านขวาใช้กับสัมภาระ อาหาร หรือเรียก Starboard หรือไฟเขียวแดงที่กราบเรือซ้ายขวากลายมาเป็นปลายปีก เป็นต้น) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ทำไมต้องฉีดน้ำใส่เครื่องบิน?
นอกจากอุโมงค์น้ำต้อนรับแล้ว หน่วยงานต่างๆยังได้จัดเตรียมการแสดงชุดพิเศษเพื่อเป็นการต้อนรับผู้โดยสารของเที่ยวบินนี้บริเวณโถงผู้โดยสารขาเข้าอีกด้วย ถือเป็นกิจกรรมสร้างบรรยากาศคึกคักได้เป็นอย่างดีในช่วงเช้า
จบไปเป็นที่เรียบร้อยกับรีวิวการเดินทางเที่ยวบินนี้ กับการใช้งานท่าอากาศยานที่ไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์มานานหลายปี การเปิดเส้นทางบินของนกแอร์ครั้งนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้น(ใหม่)อีกครั้ง หวังว่าเที่ยวบินดังกล่าวจะได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้โดยสาร ทำให้สามารถเพิ่มเส้นทาง ความถี่ แม้แต่เพิ่มขนาดของเครื่องบินก็มีความเป็นไปได้….สำหรับใครที่สนใจเดินทางเส้นทางนี้สามารถเข้าไปจองโดยตรงที่เว็ปไซต์ของสายการบิน www.nokair.com
ตารางบินของเส้นทางระหว่าง เชียงใหม่ – นครราชสีมา
_______________________
หลังจากการเดินทางบนเที่ยวบินเช้าตรู่จากนครราชสีมา เราเตรียมตัวเดินทางต่อจากเชียงใหม่กลับกรุงเทพฯ ระหว่ารอเครื่องที่โถงผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่ผู้โดยสารกลับมาหนาแน่น เราแวะไปเติมพลังกันที่ห้องรับรอง The Coral ที่นี่มีทั้งอาหารว่าง อาหารคาว ขนม กาแฟ เครื่องดื่ม ไว้บริการหลากหลาย ถ้าใครอยากรอเครื่องแบบสบายๆและอิ่มท้อง อย่างลืมแวะไปใช้บริการกัน (แอบกระซิบว่ามีโปรโมชันร่วมกับเครือข่ายโทรศัพท์ บัตรเครดิต หลายโปรที่น่าสนใจ)
สามารถติดตามบทความเกี่ยวกับท่องเที่ยวและการเดินทางอื่นๆของเราได้ที่นี่