สุวรรณภูมิ

Written by 9:15 pm Travel

พาชมพิพิธภัณฑ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ…แวะเดินเล่นก่อนขึ้นเครื่อง

พิพิธภัณฑ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่บริเวณอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้รวมเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างท่าอากาศไว้

พิพิธภัณฑ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Airport Museum) ตั้งอยู่บริเวณอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีพื้นที่ทั้งหมด 900 ตารางเมตร โดยได้รวมเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไว้ ทั้ง ประวัติความเป็นมาของกิจการการบินในประเทศไทย ไปจนถึงรายละเอียดการก่อสร้างที่น่าสนใจหลายอย่าง ถือเป็นสถานที่ที่น่ามาแวะชมสำหรับการเดินทางครั้งต่อไป โดยพิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00 – 16.00 น. และไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด

บริเวณด้านหน้าของอาคารพิพิธภัณฑ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ชั้นบนสุดของอาคารจอดรถ สามารถเดินได้จากอาคารผู้โดยสาร

การเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์

สามารถเดินจากอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 4 ผู้โดยสารขาออก ประตู 8 (ปัจจุบันจากกระบวนการคัดกรองผู้โดยสารเข้าและออก จะสามารถเข้าออกจากประตู 9 เท่านั้น) เดินออกแล้วข้ามถนนไปฝั่งอาคารจอดรถก็จะเจอทางเข้าของพิพิธภัณฑ์เลย ถือว่าการเดินทางสะดวกสบายอย่างมาก

มองจากภายในอาคารผู้โดยสารสามารถเห็นอาคารพิพิธภัณฑ์

ภายในพิพิธภัณฑ์

เดินเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์ก็จะพบกับโถงทางเข้าขนาดใหญ่ รวมถึงบริเวณต้อนรับที่มีพนักงานคอยให้การดูแล โดยการชมพิพิธภัณฑ์จะมีพนักงานให้ความรู้ในแต่ละห้องจัดแสดง โดยจะใช้เวลาทั้งหมด 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แต่ถ้าใครมีเวลาน้อยอยากเดินดูเองหรืออยากรีบเดินก็สามารถแจ้งพนักงานได้

พิพิธภัณฑ์นี้ประกอบไปด้วยห้องจัดแสดงทั้งหมด 9 ห้อง ดังนี้

ห้องที่ 1 : ใต้ฟ้าพระบารมี  / ห้องที่ 2 : แผ่นดินนี้…แผ่นดินทอง / ห้องที่ 3 : วันเวลาแห่งความสำเร็จ  / ห้องที่ 4 : เส้นทางสู่ความภูมิใจ / ห้องที่ 5 : 9 มหัศจรรย์สุวรรณภูมิ / ห้องที่ 6 : อัตลักษณ์ไทยสู่สากล / ห้องที่ 7 : ศักยภาพระดับโลก / ห้องที่ 8 : ท่าอากาศยานแห่งรอยยิ้ม / ห้องที่ 9 แสงทองส่องทางสู่ปลายฟ้า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”

ไปชมภาพบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์กัน โดยในห้องแรกๆส่วนใหญ่จะจัดแสดงด้วยภาพ ทั้งภาพถ่ายและภาพเขียน มีทั้งประวัติศาสตร์ของกิจการการบินในประเทศไทย และภาพการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งแต่ปี 2540 ที่เริ่มการปรับพื้นที่รวมถึงภาพการก่อสร้างที่สมัยนั้นยังดำเนินการโดย “บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด”

ภาพถ่ายมุมสูงแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เส้นทางเวลาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ประกอบด้วยภาพถ่ายและคำอธิบายต่างๆเกี่ยวกับการก่อสร้าง

ภาพการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ภาพการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ห้องที่ 5…9 มหัศจรรย์สุวรรณภูมิ

เดินมาถึงห้องที่ 5 ห้องนี้ดูเหมือนจะน่าตื่นตาตื่นใจที่สุด เพราะเป็นห้องขนาดใหญ่และมีแบบจำลองต่างๆของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งอยู่มากมาย ทั้งแบบจำลองมุมกว้างแสดงถึงทางระบายน้ำต่างๆบริเวณโดยรอบ หรือแบบจำลองตัวอาคารต่างๆทั้งอาคารผู้โดยสารและอาคารหอบังคับการบิน โดยในการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ ขณะนั้น มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน ภายในห้องนี้ได้อธิบายสิ่งต่างๆในการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การก่อสร้างเสาหลักขนาดใหญ่(Pylon) การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารโดยใช้คานเหล็กขนาดใหญ่(SuperTruss) การก่อสร้างโครงเหล็กอาคารเทียบเครื่องบิน(5 Pin Truss) รวมถึงการวางแผนและการเตรียมความพร้อมในการย้ายการปฏิบัติการของท่าอากาศยานดอนเมืองมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างรอบคอบในทุกขั้นตอน

เข้ามาในห้องนี้ก็จะเจอแบบจำลองมุมกว้างของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นอย่างแรก

แบบจำลองแสดงระบบระบายน้ำของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อป้องกันอุทกภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการของท่าอากาศยาน รวมถึงชุมชนโดยรอบ

เดินต่อมาจะเจอแบบจำลองเสมือนจริงของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งอาคารผู้โดยสารและอาคารหอบังคับการบิน โดยหอบังคับการบินสุวรรณภูมิเป็นหนึ่งในหอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงถึง 132 เมตร ส่วนอาคารผู้โดยสารก็เป็นหนึ่งในอาคารผู้โดยสารที่มีพื้นที่มากที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่ถึง 563,000 ตารางเมตร

แบบจำลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและอาคารหอบังคับการบิน

แบบจำลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีเครื่องบินสายการบินต่างๆมากมาย

แบบจำลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีเครื่องบินสายการบินต่างๆมากมาย ในภาพคือแบบจำลองเครื่องบินแบบ Airbus A380 ของการบินไทย

ถัดจากแบบจำลองท่าอากาศยานและหอบังคับการบิน ก็จะพบกับแบบจำลองภาพตัดขวางของอาคารผู้โดยสาร ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้าและผู้โดยสารขาออก รวมถึงแบบจำลองเสาหลักขนาดใหญ่(Pylon) คานเหล็กขนาดใหญ่(SuperTruss) และสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆในการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

แบบจำลองอาคารผู้โดยสาร โดยแยกเป็นแต่ละชั้นตามการใช้งานของอาคารจริงๆ

ตัวอย่างชั้นผู้โดยสารขาออก

โครงเหล็กถัก 5 Pin Truss ที่ใช้เป็นโครงสร้างหลักของอาคารเทียบเครื่องบิน (Concourse)

คานเหล็กขนาดใหญ่ (SuperTruss) ที่ใช้เป็นโครงสร้างหลักของอาคารผู้โดยสาร และเป็นความลับที่ทำให้ภายในอาคารผู้โดยสารไม่ต้องใช้เสารับน้ำหนักแม้จะมีขนาดใหญ่มากก็ตาม

หลังจากห้องจัดแสดงนี้ก็จะมีอีก 2-3 ห้อง ทั้งเรื่องการพัฒนาของท่าอากาศยาน เช่น อาคารเทียบเครื่องบินรองที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือในด้านของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ที่เน้นในเรื่องของการบริหารจัดการมลภาวะต่างๆ และสนามจักรยานรอบท่าอากาศยาน

ทั้งหมดนี้สามารถใช้เวลาอย่างรวดเร็วประมาณ 20 นาทีในการชม เดินทางครั้งต่อไปอย่าลืมเผื่อเวลาเพื่อจะมาเยี่ยมเยียนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่อย่าลืมเผื่อเวลาเดินไปกลับจากทางเข้าผู้โดยสาร ยิ่งถ้าเดินทางภายในประเทศก็ถือว่าเดินค่อนข้างไกลเลยทีเดียว..

 

Last modified: August 26, 2020
Close