การบินไทย ล้มละลาย

Written by 10:27 pm Aviation

โค้งสุดท้าย ใครจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินรายใหม่ของการบินไทย

จากการถอนตัวของที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ฟินันซ่า จำกัด ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการทำแบบจำลองทางการเงินของกระบวนการฟื้นฟูกิจการที่ต้องส่งให้ศาลล้มละลายกลางภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ทำให้ตำแหน่งนี้ได้ว่างลง

จากการถอนตัวของที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ฟินันซ่า จำกัด ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการทำแบบจำลองทางการเงินของกระบวนการฟื้นฟูกิจการที่ต้องส่งให้ศาลล้มละลายกลางภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ทำให้ตำแหน่งนี้ได้ว่างลง เราได้ลองคาดการณ์ชื่อของที่ปรึกษาทางการเงินที่มีสิทธิ์เข้ามาเป็นกำลังสำคัญเพื่อความอยู่รอดของสายการบินแห่งชาติ

การบินไทย ฟื้นฟู ล้มละลาย

ก่อนอื่นเรามาลองทำความเข้าใจความสำคัญและบทบาทของที่ปรึกษาทางการเงินกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ว่ามีอะไรบ้าง

– ให้คำปรึกษาในภาพกว้าง โดยเฉพาะภาพรวมทางการเงิน ทั้งความสามารถในการหารายได้ การควบคุมต้นทุน ขนาดสินทรัพย์ จำนวนหนี้สิน ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร เป็นต้น

– พิจารณาหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของการบินไทย (ซึ่งทำได้ค่อนข้างยากในภาวะฟื้นฟูกิจการเพราะยากที่ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ทั้งรายเดิมและรายใหม่จะให้เงินสนับสนุนเพิ่ม)

– สร้างแบบจำลองทางการเงิน นั่นคือการคาดการณ์งบการเงินล่วงหน้าจากปัจจัยตั้งต้นที่ต่างกันออกไปในแต่ละสถานการณ์ เพื่อการตัดสินใจที่ดีที่สุดในการเลือกกลยุทธ์ต่างๆในการดำเนินงาน

– ร่วมกับที่ปรึกษารายอื่นๆ เพื่อเจรจาหาทางออกกับเจ้าหนี้ของการบินไทย

คาดการณ์ที่ปรึกษาทางการเงินรายใหม่ หลังจากการถอนตัวของรายเก่า

โดยที่ปรึกษาทางการเงินจากการประกาศของการบินไทยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั่นคือ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งมีทั้งหมด 75 บริษัท ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงินรายใหม่ของการบินไทยก็น่าจะอยู่ในระดับเดียวกัน โดยสามารถจัดกลุ่มบริษัทที่มีความเป็นไปได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 : กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เช่นเดียวกับบริษัท ฟินันซ่า จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาทางการเงินด้านต่างๆ ให้กับหลายบริษัทอยู่แล้ว เช่น บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในแวดวงการเงิน โดยชื่อเก่าก่อนหน้าการควบรวมกิจการกับธนาคารเกียรตินาคินนั่นคือ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือชื่อแต่ดั้งเดิมคือ บริษัทเงินทุน ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทนี้เองเป็นผู้นำการบินไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2534 ร่วมกับบริษัทเงินทุน เอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ในสมัยนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่ารอบใหม่นี้ก็อาจจะเป็นรายนี้อีก นอกจากนี้เอง ยังมีบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ ในไทยอีกหลายแห่งที่มีศักยภาพ แต่เชื่อว่าเกือบทั้งหมดน่าจะยังไม่เคยผ่านการฟื้นฟูกิจการขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจการบินในไทย

กลุ่มที่ 2 : กลุ่มที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งชื่อเหล่านี้คุ้นหูกันดีอยู่แล้ว ธนาคารเหล่านี้มักมีส่วนธุรกิจหนึ่งที่ให้บริการด้านที่ปรึกษาทางการเงิน และได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้หลายๆ ธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย แต่ด้วยความที่ทั้งธนาคารพวกนี้อาจเป็นเจ้าหนี้ของการบินไทยเสียเอง จึงทำให้บุคคลภายนอกอาจตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นด้าน Conflict of Interest ได้ แต่ก็ถือว่ากลุ่มนี้เองก็มีความสามารถและมีศักยภาพที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของการบินไทยได้ แถมยังมีเงินทุนจากธนาคารต่อยอดให้การบินไทยภายหลังฟื้นฟูกิจการเสียอีก

กลุ่มที่ 3 : กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น JP Morgan Chase & Co. Bank of America Merrill Lynch เป็นต้น ชื่อพวกนี้คุ้นหู้กันดีอยู่แล้วในความเป็น Global Standard และหลายรายเคยช่วยฟื้นฟูกิจการให้สายการบินในต่างประเทศ เช่น สายการบินในอเมริกา หรือ JAL มาแล้ว แต่ปัญหาสำคัญของบริษัทในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะที่อยู่ในต่างประเทศนั่นคือ ความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรของการบินไทย อีกทั้งน่าจะมีค่าบริการที่สูงมาก (คล้ายกับประเด็นการใช้บริการ EY ต่างประเทศที่เคยออกข่าว) หรืออาจจะเป็นกลุ่มบริษัทตรวจสอบบัญชี Big 4 ที่เหลือ นั่นคือ PwC, Deloitte และ KPMG ที่ไม่ได้ให้บริการแค่การสอบบัญชี แต่ยังครอบคลุมถึงบริการที่ปรึกษาทางการเงินทั้งในต่างประเทศและในไทย แต่จากการที่มี 1 ใน Big 4 เป็นผู้ทำแผนแล้ว คาดว่าโอกาสไม่น่าจะสูงมากนัก

ทางเลือกสุดท้ายคือ ไม่ใช้ที่ปรึกษาทางการเงิน และใช้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ จำกัด (EY) ซึ่งเป็นผู้ทำแผนตามข้อกำหนดของกรมบังคับคดีในการให้คำปรึกษาทางการเงิน

แต่จากรายงานข่าวของ efinancethai ที่รายงานเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมาว่า ทางการบินไทยได้ทาบทามบริษัทที่ปรึกษารายใหม่ให้เข้ามาช่วยทำงานได้แล้ว แต่ยังไม่อยากเปิดเผยรายชื่อ เราจึงคาดว่าจะมีการเปิดเผยชื่อที่ปรึกษาทางการเงินรายใหม่เร็วๆนี้ ดังนั้น เราจึงมองความเป็นไปได้อยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารในกลุ่มที่ 1 และ 2 นั่นเอง
แต่ไม่ว่าบริษัทใดจะได้รับความไว้วางใจจากการบินไทย เราก็เชื่อว่าบริษัทนั้นๆจะสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีช่วยนำพาการบินไทยผ่านวิกฤตในครั้งนี้และทะยานขึ้นฟ้าในฐานะสายการบินแห่งความภูมิใจของคนไทยได้อีกครั้งอย่างแน่นอน

______________________________________

อย่าลืมติดตาม Wingtips เพื่อที่จะไม่พลาดข่าวสารและเรื่องเล่าการบินอื่นๆตามช่องทางดังนี้

Homepage : Wingtips
Facebook : WingtipsTH
Instagram : wingtips_th

สำหรับติดต่อโฆษณาและอื่นๆสามารถส่งรายละเอียดมาได้ที่ [email protected]

Last modified: January 12, 2021
Close