Written by 11:08 pm Aviation

การจัดสรรเวลาการบิน ผ่านการแบ่งตารางบิน “ฤดูร้อน” และ “ฤดูหนาว” ของสายการบิน

หลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินการเรียก “ตารางบินฤดูร้อน” และ “ตารางบินฤดูหนาว” กันมาบ้าง เราลองไปทำความรู้จักกันเพิ่มเติมว่า ทำไมต้องมีการแบ่งตารางบินออกเป็นช่วง ๆ ในแต่ละปี

เช้าวันอาทิตย์ 2 วันของปี จะเป็นอีกวันที่มีความสำคัญในรอบปีของอุตสาหกรรมการบิน คือเป็นวันแรกของ “ตารางบินฤดูหนาว” และ “ตารางบินฤดูร้อน” ที่จะเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม และมีนาคมของทุกปี ไปสิ้นสุดที่วันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคม และตุลาคมนั่นเอง

หลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินการเรียก “ตารางบินฤดูร้อน” และ “ตารางบินฤดูหนาว” กันมาบ้าง เราลองไปทำความรู้จักกันเพิ่มเติมว่า ทำไมต้องมีการแบ่งตารางบินออกเป็นช่วง ๆ ในแต่ละปี แล้วมันมีผลกับผู้โดยสารอย่างไร

ฤดูกาลการบิน

สำหรับประเทศไทย มีการบัญญัติศัพท์อย่างเป็นทางการไว้คือ “ฤดูกาลการบิน” โดยมีระบุอยู่ใน ระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดสรรเวลาการเข้าออกสนามบินของอากาศยาน ไว้ว่า

“ฤดูกาลการบิน” (Season) หมายความว่า ช่วงเวลาในการกำหนดตารางการบิน ซึ่งแบ่ง ออกเป็น ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์สุดท้าย ของเดือนตุลาคม ซึ่งสอดคล้องกับการแบ่งตารางบินออกเป็น “Summer” และ “Winter” ที่กำหนดโดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International air transport association – IATA) ใน Worldwide Airport Slot Guidelines (WASG) สรุปได้ว่า

ตารางบินฤดูร้อน (Summer Schedule) : เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ไปจนถึงวันเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคม รวมระยะเวลา 30 สัปดาห์ ใช้ตัวอักษร “S” ในการกำกับ เช่น S22 หมายถึง ตารางบินฤดูร้อนปี 2022

ตารางบินฤดูหนาว (Winter Schedule) : เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ไปจนถึงวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ในปีถัดไป รวมระยะเวลา 22 สัปดาห์ ใช้ตัวอักษร “W” ในการกำกับ เช่น W22/23 หมายถึง ตารางบินฤดูหนาวปี 2022/2023

ในบางกรณี อาจจะเห็นตัวอักษร NS หรือ NW ซึ่งก็มีความหมายเดียวกัน แต่จะเพิ่มคำว่า Northern Summer และ Northern Winter เข้ามากำกับไว้ว่าเป็นช่วงเวลาฤดูร้อนและฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับฤดูกาลของซีกโลกใต้นั่นเอง

ทำไมต้องแบ่งตารางบินออกเป็นช่วง?

วัตถุประสงค์หลักของการแบ่งตารางบินคือ ประโยชน์ในด้านการ “จัดสรรเวลาบิน” หรือ Slot ซึ่งจะมีการจัดสรรและเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ 2 ครั้งต่อปี กล่าวคือ การที่สายการบินจะทำการบินเที่ยวบินใดเที่ยวบินหนึ่งนั้นมีหลายปัจจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะขีดความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยานต้นทางและท่าอากาศยานปลายทาง ดังนั้น จึงต้องมีการ “จัดสรรเวลาบิน” ให้ลงตัว ก่อนที่จะสามารถประกาศตารางบินออกสู่สาธารณะ

การแบ่งตารางบินออกเป็นช่วง ยังส่งผลให้ทั้งสายการบินและสนามบิน สามารถคาดการณ์ความต้องการเดินทางที่มักมีไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา และวางแผนตารางบินให้เหมาะสมกับความต้องการนั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีประเด็นรองอื่นๆ เช่น ทิศทางลมในแต่ละฤดูกาล หรือเวลาออมแสง (Daylight saving time) ที่ทำให้สายการบินต้องปรับตารางบินให้เหมาะสมอีกด้วย

การจัดสรรเวลาการบิน

การจัดสรรเวลาการบิน ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจับที่สำคัญในการดำเนินงานของสายการบินและสนามบิน เนื่องจากสายการบินไม่สามารถจะประกาศตารางบินออกไปได้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำการบินเข้าออกสนามบินระดับสาม โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) แบ่งสนามบินเป็นแต่ละระดับ ดังนี้

สนามบินระดับหนึ่ง (level 1 : Non-Coordinated/Non-Facilitated) คือ สนามบินที่มีขีดความสามารถของโครงสร้าง พื้นฐานทั้งหมดที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้งานตลอดเวลา ในประเทศไทย เช่น สนามบินอุบลราชธานี อุดรธานี

สนามบินระดับสอง (level 2 : Facilitated) คือ สนามบินที่มีโอกาสที่จะเกิดความคับคั่งของการจราจรได้ในบางช่วงเวลาของวัน สัปดาห์ หรือฤดูกาลการบิน ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยวิธีการปรับตารางการบินโดยความเห็นร่วมกันระหว่างสายการบินกับหน่วยอำนวยความสะดวกจัดเวลาการบิน ในประเทศไทย เช่น สนามบินเชียงราย หาดใหญ่

สนามบินระดับสาม (level 3 : Coordinated) คือ สนามบินที่มีโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอในการรองรับหรือสนามบินที่หน่วยงานของรัฐกำหนดเงื่อนไขไว้ จนทำให้สนามบินนั้นไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในการใช้สนามบินได้ ทุกเที่ยวบินจะตองไดรับการจัดสรรเวลาจาก “หน่วยประสานจัดสรรเวลาการบิน” (Slot Coordinator) กอนทำการบินมายังสนามบินระดับ 3 ในประเทศไทย เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่

สำหรับการจัดสรรเวลาการบิน จะมีการจัด “การประชุมเจรจาการจัดสรรเวลาการบิน” (Slot Conference) ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นโดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อการประสานงานจัดสรรเวลาการบินให้แก่สายการบินที่มีแผนทำการบินเข้าออกสนามบินระดับสองและสนามบินระดับสาม ซึ่งจัดขึ้นสองครั้งต่อปี ภายใต้ “ปฏิทินการจัดสรรเวลาการบิน” (Calendar) หรือปฏิทินการจัดสรรเวลาการบิน โดยจะจัดขึ้นล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน และสอดคล้องกับการแบ่งตารางบินออกเป็น “ฤดูร้อน” และ “ฤดูหนาว” นั่นเอง

ทั้งนี้ สายการบินสามารถขอจัดสรรเวลาการบินได้ทั้งแบบ “ฤดูกาลการบินเดียวกัน” (Equivalent Seasons) เช่น ทำการบินฤดูกาลการบินฤดูร้อนปีนี้และฤดูร้อนปีหน้า หรือ “ฤดูกาลการบินต่อเนื่องกัน” (Consecutive Seasons) เช่น ทำการบินฤดูกาลการบินฤดูร้อนปีนี้ ต่อเนื่องไปยังฤดูหนาว

สำหรับหน่วยงานที่กำกับดูแลการจัดสรรเวลาการบินในประเทศไทยคือ กลุ่มจัดสรรเวลาการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

กระทบกับผู้โดยสารอย่างไร

แม้วัตถุประสงค์หลักของการแบ่งฤดูกาลการบิน รวมถึงการจัดสรรเวลาการบิน จะเป็นในด้านการปฏิบัติงานของสายการบินและสนามบิน แต่สำหรับผู้โดยสารเอง การรู้ข้อมูลนี้ไว้ก็นับว่าเป็นประโยชน์กับการวางแผนการเดินทาง อาทิ

– สายการบินมักประกาศตารางบินล่วงหน้า 1-2 ฤดูกาลการบิน จะสังเกตได้ว่า วันที่สามารถจองบัตรโดยสารได้ไกลออกไปที่สุด มักจะเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาลการบิน (ปลายมีนาคม และปลายตุลาคม) ยกเว้นสายการบินต้นทุนต่ำบางสายที่มักประกาศตารางบินล่วงหน้า 3-4 ฤดูกาลการบิน ทำให้เราสามารถ “จองข้ามปี” ได้นั่นเอง

– ตารางบินมักจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการเปลี่ยนฤดูกาลการบิน ทั้งการเพิ่มลดเที่ยวบิน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงเวลาเดินทาง

– สายการบินมักเริ่มทำการบินเส้นทางใหม่ ๆ ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลการบิน ซึ่งการเปิดเส้นทางใหม่ช่วงแรก มักมีราคาบัตรโดยสารที่ดึงดูดให้ผู้โดยสารลองใช้บริการ

_______________________________________

อ้างอิง

– ระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดสรรเวลาการเข้าออกสนามบินของอากาศยาน
https://www.caat.or.th/th/archives/47688

– Worldwide Airport Slot Guidelines (WASG) – IATA

Tags: Last modified: November 6, 2022
Close